กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--กสทช.
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่ายมือถือและสำนักงาน กสทช. ต่างให้ข่าวว่าจะปิดบริการ 2G ภายในเดือนตุลาคมนี้ แต่การหยุดบริการโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ค่ายมือถือยังไม่ได้ส่งแผนการที่ชัดเจนให้คณะกรรมการ กสทช. พิจารณา
เหตุผลที่ผู้ให้บริการมือถือทั่วโลกทยอยปิดบริการ 2G ก็เพื่อลดรายจ่ายในการดูแลโครงข่ายที่มีผู้ใช้งานน้อย และนำคลื่นไปให้บริการ 4G ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่การจะปิดบริการก็ต้องมีการเตรียมการเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น ไม่มีผลกระทบและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน หลายประเทศจึงมีการประกาศแผนล่วงหน้า 2-5 ปี ไม่ใช่การปิดฉับพลันอย่างที่พยายามทำในประเทศไทย
ตัวอย่างเช่น เวียดนามเพิ่งประกาศจะปิด 2G มีผลในเดือนมกราคม 2565 โวดาโฟนและเทเลนอร์ในยุโรปประกาศปิด 2G มีผลในปี 2568 แม้แต่ประเทศที่ปิด 2G ไปแล้วอย่างสิงคโปร์ก็ใช้เวลาตัดสินใจและประกาศล่วงหน้า 2 ปี เหตุที่ทุกประเทศต้องประกาศล่วงหน้านาน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัวในการจัดหาอุปกรณ์ทดแทน
หลายคนอาจคิดว่า โทรศัพท์ 3G/4G รุ่นใหม่ราคาถูก จะส่งผลให้ปิด 2G ได้ไม่ยาก แต่ประสบการณ์จากหลายประเทศพบว่า การปิด 2G ไม่ง่าย เพราะมีการใช้งานเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ไม่ใช่โทรศัพท์มือถือหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า IoT หรือ M2M อีกมากมาย เช่น เครื่องรับชำระเงิน (EDC) ระบบติดตามรถขนส่งสินค้าหรือขนส่งสาธารณะ (Fleet management) หรือแม้แต่มิเตอร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์วัดระดับน้ำ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ การปิด 2G จะกระทบต่อการบริการสาธารณะกว้างขวางมากกว่าเพียงแค่โทรศัพท์ใช้งานไม่ได้
ในยุโรปมีการประเมินว่า การทดแทนอุปกรณ์เหล่านี้มีต้นทุนสูงมาก จึงมีแผนที่จะยุติ 3G ก่อนจะยุติ 2G เพราะโทรศัพท์มือถือที่รองรับทั้ง 3G และ 4G มีอยู่มากมาย การยุติ 3G มีผลกระทบต่อบริการสาธารณะน้อยกว่าการยุติ 2G แต่ในประเทศที่ไม่มีปัญหาลักษณะนี้ ก็จะยุติ 2G ก่อน
ในเกาหลีใต้ แม้จะเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้ว แต่ก็ยังคงให้บริการ 2G ต่อไป เนื่องจากยังไม่สามารถเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือในประชากรที่อาศัยอยู่ตามเกาะหรือที่ห่างไกลได้อย่างครบถ้วน และอุปกรณ์ M2M ที่ใช้ระบบ 2G บางส่วนถูกติดตั้งในจุดที่ไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนทดแทนได้ เช่น ในอุโมงค์หรือเหมืองที่ยากต่อการเข้าถึง
ในประเทศไทยยังคงมีผู้ใช้งาน 2G รวมกว่า 3 ล้านราย และมีการใช้งานอุปกรณ์ M2M กว่า 1 แสนชิ้นทั่วประเทศ การพยายามปิดบริการ 2G โดยขาดการจัดการจะกระทบผู้ใช้งานกว่า 3 ล้านรายและจะกระทบต่อบริการสาธารณะอื่นๆ กว่า 1 แสนจุด
ทางออกในการยุติ 2G คือการสร้างความรู้ความเข้าใจและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพต่อสังคมและผู้ใช้บริการ มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือต้องใช้เวลาในการเตรียมการล่วงหน้า 1-2 ปีเป็นอย่างต่ำ และจัดหาอุปกรณ์ทดแทนราคาถูกให้ทันเวลา
ในบางประเทศที่ไม่สามารถยุติ 2G ได้ทั่วประเทศ ก็จะมีการดำเนินการที่เรียกกันว่า Rationalization กล่าวคือยุติทั้งหมดไม่ได้ แต่จำกัดพื้นที่บริการได้ เช่น ยังคงให้บริการในพื้นที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ M2M ที่ยากต่อการเข้าไปเปลี่ยน ยังคงให้บริการในพื้นที่ที่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลหรือตามเกาะแก่งให้ใช้บริการต่อไปได้ และเพื่อลดต้นทุนโครงข่ายที่ซ้ำซ้อน ค่ายมือถือแต่ละค่ายอาจร่วมกันบริหารโครงข่าย 2G ระดับชาติร่วมกัน นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่ ก็สามารถใช้เทคนิค Dynamic spectrum sharing ระหว่างการใช้งาน 2G และการใช้งาน 3G/4G เป็นต้น
แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม หากจะยุติ 2G รวมถึงยุติ 3G ในอนาคต ปัจจัยที่สำคัญคือการจัดหาอุปกรณ์ 4G ราคาถูก และส่งเสริมการใช้งาน VoLTE เพื่อให้สามารถยุติบริการโทรออก/รับสายแบบดั้งเดิมบนระบบ 2G/3G ซึ่งบริการโทรแบบดั้งเดิมนี้จะมีอุปสรรคในการสื่อสารกับระบบ 5G ในอนาคตอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว สัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบ 2G บนคลื่น 900/1800 MHz ของไทยสิ้นสุดไปหลายปีแล้ว จนทั่วโลกต่างเข้าใจว่าไทยปิดระบบ 2G ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าค่ายมือถือที่ชนะการประมูลคลื่น 900/1800 MHz ล้วนกลับมาเปิดให้บริการ 2G ใหม่ เพื่อรักษาฐานผู้ใช้งานดั้งเดิม และใช้เป็นเหตุผลในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้มีบริการ 2G อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในวันนี้ หากแต่ละค่ายจะยุติ 2G ไปเฉยๆ ก็ไม่ต่างกับการลอยแพผู้บริโภคกลางทะเล หลังจากที่เคยใช้เป็นตัวประกันมาแล้ว
แม้แต่ละค่ายจะเปิดบริการ 2G โดยสมัครใจ แต่หากจะหยุดบริการจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก กสทช. ก่อน การจัดทำฐานข้อมูลผู้ใช้งานและฐานข้อมูลอุปกรณ์ที่ใช้งาน เพื่อวิเคราะห์การจัดหาอุปกรณ์ทดแทนและวางแผนการดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการสื่อสารกับผู้ใช้งานดั้งเดิมอย่างจริงจังและจริงใจ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการยุติ 2G ในประเทศไทย และหากจะลงมือจริง ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีก็น่าจะยุติบริการ 2G ได้