กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน? ภาวะเงินเฟ้อ? การแข็งหรืออ่อนค่าของเงินบาท! เรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือไม่ คำตอบคือ “แน่นอน” เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องการเงินมีความสำคัญกับนักศึกษาเช่นเดียวกับคนในวัยทำงาน จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมนักศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเงินในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับความรู้ในด้านอื่นๆ และหนทางที่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาที่จะเสาะหาความรู้ด้านการเงิน ก็คือการมีโอกาสเรียนรู้จากกรณีศึกษาในความเป็นจริง ตั้งแต่การออมเงินไปจนถึงการบริหารจัดการด้านการเงินโดยรวม
ผลงานของน้องๆ นักศึกษาที่เข้าประกวดใน การจัดประกวดแผนการตลาดในระดับปริญญาตรี ในโครงการJ-MAT Award ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักการตลาดรุ่นใหม่ ที่มีสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ร่วมกับ จีอี มันนี่ ประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษากว่า 300 ทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงมุมมองและวิธีคิดที่เข้าใจถึงความจำเป็นในเรื่องการเงินที่มีต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
หลังจากที่ได้นำเสนอผลงานและตอบข้อซักถามต่างๆ จากคณะกรรมการตัดสิน แข่งขันกับเพื่อนๆ อีก 6 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ ทีมบุญช่วย, ทีมZenith Group, ทีมThe First Team จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ทีมฮาเอเรรา, ทีม foCUs จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมHarem จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่โรงแรมอโนมา เมื่อเร็วๆ นี้ ในที่สุด ทีมนักการตลาดรุ่นใหม่ TU-FIT จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยผลงานภายใต้แนวคิด “ทุกๆ การจ่ายของคุณ คือ การออมของครอบครัว” โดยได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 100,000 บาท และเข้าฝึกงานกับจีอี มันนี่ ประเทศไทย เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการตลาดการเงินอย่างเต็มที่อีกด้วย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัล Creative Award ตกเป็นของทีม foCUs จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานภายใต้แผนการตลาดที่เน้นไปที่ การเป็นสินเชื่อเฟิร์สช้อยส์เพื่อครอบครัว ที่สามารถสนับสนุนครอบครัวให้แข็งแรงและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ต้องการให้ทุกคนมีความรู้สึกใหม่ต่อบัตรสินเชื่อว่าไม่ใช่บัตรสำหรับคนๆ เดียว แต่สำหรับทุกคนในครอบครัว โดยก่อนที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรต้องคิดก่อนซื้อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาครอบครัวและสังคมตามมา ส่วนทีมฮาเอเรรา จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากผลงานภายใต้แนวคิดที่ต้องการจะเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด ไม่ใช่คอยตามทวงหนี้ ไม่ได้หวังแค่การเติบโตขององค์กร แต่ต้องควบคู่กับการเอาใจใส่ลูกค้าและต้องการที่จะเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า ตลอดจนการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า เพื่อทำให้ลูกค้าใช้จ่ายเงินได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพผ่านสินเชื่อเฟิร์สช้อยส์คาร์ด
นางสาวตวงพลอย จิวาลักษณางกูร หนึ่งในสมาชิกของทีม TU-Fit ซึ่งมีทั้งหมด 5 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 1 คน กล่าวถึงแนวคิดหลักของแผนการตลาดของกลุ่มว่า เมื่อได้โจทย์มาก็มาคิดกันว่าอะไรบ้างที่บัตรสินเชื่อเฟิร์สช้อยส์คาร์ดทำแล้วรับผิดชอบต่อสังคม เพราะภายใต้ธุรกิจสินเชื่อส่วนใหญ่ผู้ให้กู้จะเป็นผู้ได้เพียงอย่างเดียว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้กู้ได้ประโยชน์บ้าง โดยเราจะมองว่าผู้บริโภคต้องการอะไรและทำความเข้าใจกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ แล้วนำปัญหามาแก้เป็นแผน ซึ่งก็ได้แนวคิดหลักออกมาคือ ทุกๆ การจ่ายของคุณกับเฟิร์สช้อยส์ คือ การออมของครอบครัว โดยที่เน้นไปที่ ครอบครัวและการออม เพราะปัญหาครอบครัวกับการออมเป็นเรื่องที่สัมพันธ์และมีผลต่อกันและทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ดังนั้นถ้าจะเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่รับผิดชอบต่อสังคม ก็ควรเข้าไปมีส่วนในการแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย โดยจะเน้นไปที่การใช้จ่ายของครอบครัวที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ขณะเดียวกันจะมีการหักเงิน 3% จากการจ่ายอัตราค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทสินเชื่อเข้ากองทุนรวม เพื่อให้เป็นเงินออมในระยะยาวให้กับผู้บริโภค
"พวกเราดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถคิดแผนการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์การเงิน ให้สามารถสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ตรงตามโจทย์ที่กำหนดมา โดยแผนการตลาดที่พวกเราทำมานั้นไม่ได้คาดหวังว่าจะถูกนำไปใช้งานทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดอยากให้มีส่วนช่วยจุดประกายความคิดในเรื่องการใช้บัตรสินเชื่อที่มีการออมไปด้วย ที่สำคัญพวกเราดีใจมากที่จะได้มีโอกาสได้ไปฝึกงานหน่วยงานระดับชั้นนำอย่างที่ จีอี มันนี่ ประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าจะมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตการทำงานในอนาคตภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี”
ในขณะที่สิ่งที่นักการตลาดรุ่นเยาว์จากทั้ง 7 ทีม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ยอมรับว่าตอนแรกคิดว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะเป็นเรื่องของบริการและเป็นสินค้าทางการเงินที่อาจจะไม่คุ้นเคยในห้องเรียนแต่หลังจากหาข้อมูลและจับจุดได้ก็ทำได้ง่ายขึ้น ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สินเชื่อคืออะไร โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยสนับสนุนตลอดเวลาทั้งในเรื่องของข้อมูล การให้คำปรึกษาและคอยเป็นกำลังใจ และสิ่งที่ทุกคนคาดหวังมากคือการที่จีอี มันนี่ ได้เห็นคุณค่าของแผนการตลาดของทุกทีม โดยถ้ามีการนำไปปรับใช้ได้จริง ๆ จะดีใจมากเพราะมีความหมายต่อทุกคนยิ่งกว่ารางวัลเสียอีก เพราะเหมือนกับทุกคนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผิดชอบต่อสังคม
“สิ่งที่อยากจะฝากบอกเพื่อน ๆ ที่กำลังประกวดโครงการต่าง ๆ ในขณะนี้ว่า อย่าเพิ่งท้อ เพราะไม่มีอะไรยากไปกว่าความตั้งใจของเรา ให้ลองทำดูก่อนแล้วค่อยตัดสินว่ามันยากหรือง่าย และการที่เราเข้าประกวด เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ใช้จินตนาการสร้างความคิดสร้างสรรค์ออกมา ซึ่งถ้าเราไปทำงานจริงก็อาจไม่มีโอกาสทำแผนอย่างที่เราต้องการ อยากจะบอกเพื่อน ๆ ว่าการเข้าร่วมโครงการแข่งขันครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว”
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวให้ข้อคิดต่อนิสิต นักศึกษา ในโอกาสที่มามอบรางวัลให้กับน้องๆ นักศึกษา ว่า ในครั้งนี้ต้องถือว่าทางสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และจีอี มันนี่ ประเทศไทยได้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผมเชื่อว่ามีความสำคัญยิ่งต่อคุณภาพด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และผมเชื่อว่าแผนการประกวดนี้ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาที่จะได้มีโอกาสไปฝึกงานต่อกับจีอี มันนี่ จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในชีวิตของการทำงานและอยากเห็นนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดี เป็นแรงบรรดาใจให้กับนักศึกษารุ่นใหม่สถาบันต่าง ๆ ที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไปในอนาคต
นายสมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการยุวสมาชิกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย หรือ J-MAT โดยการสนับสนุนจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการจัดการการเงินอย่างมีระบบ และมีวินัย ที่สำคัญต้องมีความโปร่งใส จริงใจอันเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมและครอบครัวไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น การรณรงค์และตอกย้ำความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตสำนึกในครั้งนี้ จึงนับเป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยมั่นใจว่าโครงการประกวดแผนการตลาด หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจาก จีอี มันนี่ประเทศไทย นี้ จะช่วยจุดประกายให้คนไทยใส่ใจในการใช้จ่ายเงินอย่างมีวินัย และมีคุณภาพมากยิ่ง
นายพิริยะ วิเศษจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีอี มันนี่ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทภูมิใจมากที่ได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมประกวดแผนการตลาดในครั้งนี้อย่างเกินคาด ที่สำคัญผลงานที่ส่งเข้าประกวดแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจของนักศึกษาของคำว่า “ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ที่รับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งเป็นปรัชญาการทำธุรกิจการบริการด้านการเงิน และเป็นหัวใจหลักของ จีอี มันนี่ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประกวดแผนการตลาดในครั้งนี้จะได้ช่วยกระตุ้นการพัฒนาวิชาการด้านการเงินสำหรับน้องๆ นักศึกษา และจะช่วยสร้างนักการตลาดรุ่นใหม่ๆ ให้กับตลาดแรงงาน consumer finance services ได้ในอนาคต
“จีอี มันนี่ เปิดโอกาสให้สมาชิกจากทีมชนะเลิศและทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 เข้ามาฝึกงานกับจีอี มันนี ประเทศไทย เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทัศนคติที่สำคัญในการทำงาน โดยเฉพาะการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคม และหวังว่าจะช่วยให้น้องๆ เยาวชนเหล่านี้สามารถเติมเต็มความฝันและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นนักการตลาดมืออาชีพในอนาคต“
ต้องถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดี ๆ ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์ที่มีความแปลกใหม่และท้าทาย ไม่หยุดอยู่กับที่ และได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่านักการตลาดที่ดีต้องพร้อมสำหรับการวางแผนการตลาดในทุกผลิตภัณฑ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
กำธน โพชฌงค์ขันธ์
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2679 7360-3
อีเมล์ kth@marketingthai.or.th
น้ำตาล สกุลสิงห์ดุสิต
บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 225
อีเมล์ namtarn@prassociates.net