กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตทั้งหมดของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ซึ่งรวมถึงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ AA(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตสากลของ IBANK ซึ่งประกอบด้วยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term IDR) อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor)
สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ฟิทช์ยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าวเนื่องจากเหตุผลเชิงพาณิชย์ (Commercial Reasons)
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของ IBANK สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารในกรณีที่มีความจำเป็น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย 2 อันดับ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ที่ 'AA(tha)' ทั้งนี้อันดับเครดิตของ IBANK ที่ต่ำกว่าธนาคารรัฐอื่นที่จัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ (ซึ่งจะได้รับการจัดอันดับให้เท่ากับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยหรือให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha)) นั้นสะท้อนถึงบทบาทความสำคัญเชิงนโยบายที่ต่ำกว่าและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการถือหุ้นในธนาคารที่ไม่ได้เป็นลักษณะการลงทุนระยะยาวเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐแห่งอื่น รวมถึงการได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลในเชิงกฎหมายและการเงินที่มีความชัดเจนน้อยกว่า
การดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของธนาคารเริ่มฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงของกระทรวงการคลังซึ่งเดิมถูกจำกัดไว้ที่ 49% นั้นได้ถูกยกเลิกเป็นการชั่วคราวตามแผนการเพิ่มทุนให้กับธนาคารและปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นใน IBANK ของกระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นเป็น 99.6% ภายหลังการเพิ่มทุนจำนวน 18.1 พันล้านบาท เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2561 นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนมากไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลในเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งการที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลืออย่างมากแก่ IBANK เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนมุมมองของฟิทช์ในด้านโอกาสที่ธนาคารจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และฟิทช์คาดว่าธนาคารจะยังคงได้รับความช่วยเหลือต่อไปในอนาคต ทั้งนี้แม้ว่าผลการดำเนินงานของ IBANK ที่ปรับตัวดีขึ้นอาจช่วยให้ธนาคารสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทเชิงนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่ฐานะทางการเงินของธนาคารในปัจจุบันยังคงอ่อนแอรวมถึงการที่ธนาคารมีขนาดเล็ก ดังนั้นบทบาทเชิงนโยบายจึงยังคงมีอยู่อย่างจำกัด
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวกของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ IBANK สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IBANK สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่คาดว่าความช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐบาลแก่ธนาคารไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
อันดับเครดิตของ IBANK อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากฟิทช์พิจารณาแล้วเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ในระยะปานกลางที่ IBANK จะมีบทบาทในเชิงนโยบายที่มากขึ้นและความช่วยเหลือจากรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น
ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารหากโอกาสที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคารลดลงแม้ว่าฟิทช์จะเชื่อว่าสถานะปัจจุบันของธนาคารที่เป็นธนาคารรัฐจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจจะปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารเพิ่มเติมหากบทบาทเชิงนโยบายของ IBANK ปรับตัวลดลงหรือรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมด มีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'BBB-' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F3' และยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตสนับสนุนคงอันดับที่ '2' และยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำคงอันดับที่ 'BBB-' และยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'