กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
โรงสีข้าวพระราชทานท่าวังผา ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ภายหลังจากปี 2549 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระยศ ในขณะนั้น รับสั่งให้กองงานราชเลขาธิการมาตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าวังผา และเห็นว่าประชาชนประสบปัญหาและได้รับเดือดร้อนเนื่องจากขาดแคลนอาหารเพื่อการบริโภค จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งกองทุนข้าวขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ หันมาปลูกข้าวเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน และพัฒนามาสู่แนวคิด "ข้าวน่าน เพื่อชาวน่าน"
นายสำเนียง ส่างคำ ประธานคณะกรรมการโรงสีข้าวพระราชทาน เล่าว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงิน ข้าวสาร และเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งเป็นกองทุนข้าวพระราชทานในช่วงแรกเริ่ม เพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นทุนในการสร้างความมั่นคงของอำเภอท่าวังผาให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในพื้นที่ เมื่อกองทุนข้าวพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังได้ทรงพระราชทานเครื่องจักรโรงสีข้าวชุมชน สำหรับตั้งเป็นโรงสีข้าวพระราชทานให้กับราษฎร และทรงเสด็จมาเปิดด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552
"คนที่นี่ซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ ไม่เคยละทิ้งประชาชนเลย สายตาพระองค์ท่านมองเห็นและนึกถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั้งหมด" โรงสีพระราชทานแห่งนี้ยังได้นำหลักการสหกรณ์ มาปรับใช้ในการบริหารงาน ดำเนินธุรกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจรวมรวมและรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อแปรรูปและบริการสีข้าว ธุรกิจจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายแก่สมาชิก ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจบริการรถไถนาและเครื่องจักรกลการเกษตร และธุรกิจร้านกาแฟ โดยกิจกรรมรวบรวมและรับซื้อข้าวมาแปรรูป โรงสีจะคิดค่าบริการสีข้าว สำหรับสมาชิกคิด อัตราบริการกิโลกรัมละ 1 บาท สีข้าวกล้องกิโลกรัมละ 1.50 ส่วนบุคคลทั่วไปจะคิดค่าบริการสีข้าวกิโลกรัมละ 1.50 บาทและสีข้าวกล้อง กิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนของแกลบที่ได้จากการสีข้าว สหกรณ์จะบรรจุใส่ถุงขายกิโลกรัมละ 45 สตางค์ ขายให้ชาวบ้านเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยหมัก หรือรองพื้นโรงเลี้ยงสัตว์ ส่วนรำข้าว เกษตรกรบางรายซื้อไปผสมอาหารให้แพะกิน ซึ่งผลพลอยได้จากการสีข้าว ทั้งแกลบและรำข้าว ช่วยสร้างรายได้อีกทางหนี่งให้กับที่นี่ด้วย
เมื่อกิจการของโรงสีข้าวได้ขยายเพิ่มขึ้น ทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) มาช่วยปรับปรุงโรงสีให้มีกำลังการผลิตที่สามารถรองรับปริมาณข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันโรงสีข้าวแห่งนี้สามารถสีข้าวได้ 6 ตันต่อวัน และผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรการผลิตที่ดี หรือ GMP ซึ่งทางโรงสีได้รับซื้อข้าวจากสมาชิกเป็นหลักและได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ ทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวกข 6 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ภายหลังจากที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทำให้ข้าวของโรงสีข้าวพระราชทานนี้มีคุณภาพดีและได้รับความนิยมมาก ปัจจุบันได้มีการแปรรูปเป็นข้าวสารจำหน่ายสู่ตลาดภายใต้ตราสินค้า "ข้าวน่าน" โดยจะเน้นจำหน่ายตลาดภายพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้คนน่านได้บริโภคข้าวสารที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งทางโรงสีได้ส่ง "ข้าวน่าน" ไปวางจำหน่ายที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดน่าน โรงเรียนและหน่วยงานทหารในพื้นที่
"การนำวิธีการและรูปแบบสหกรณ์มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโรงสีข้าวพระราชทานซึ่งมีสมาชิกประมาณ 1,400 กว่าคน ทำให้สมาชิกยึดในหลักการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และมีการอบรมให้ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ ช่วยลดต้นทุนการทำนาต่อไร่เหลือเพียง 2,000 บาท เพราะเราได้ส่งเสริมให้สมาชิกทำปุ๋ยอินทรีย์ ไว้ใช้เอง ผลประกอบการโรงสีในปีที่ผ่านมามีกำไรประมาณ 560,000 – 600,000 บาทต่อปี เมื่อถึงสิ้นปีจะมีการจ่ายปันผลคืนให้สมาชิก แม้ผลกำไรอาจจะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สมาชิกทุกคนมีความสุขมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีที่ดินทำกินไม่เกิน 10 ไร่ ดังนั้น ข้าวที่ปลูกได้ส่วนมากจะเก็บไว้บริโภคในครัวเรือน ที่เหลือเล็กน้อย ถึงนำมาขาย และโรงสีฯเราตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน เดินทางไม่ไกล ไปมาได้สะดวก อีกทั้งราคาข้าวที่รับซื้อก็จะมีการปิดประกาศให้สมาชิกทราบโดยตลอด และจะอิงกับราคาตลาด "นายสำเนียง กล่าว
ปัจจุบันสหกรณ์ส่งเสริมสมาชิกผลิตข้าวอินทรีย์ในกลุ่มของข้าวเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เช่นข้าวหอมนิล ข้าวหอมทับทิมชุมแพ ข้าวก่ำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวหอมมะลิ และรับซื้อมาเพื่อป้อนเข้าโรงสีเพื่อแปรรูปเป็นข้าวกล้อง วางจำหน่ายเฉพาะที่ร้านเลมอนฟาร์มและร้านสหกรณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"อีกสิ่งสำคัญที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงฝากไว้ คือการทำอย่างไรที่จะส่งเสริมเด็กและเยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ สืบสานการทำนา สืบสานอาชีพด้านการเกษตร จากโจทย์นี้ ทางโรงสีจึงได้ร่วมมือกับโรงเรียน บ้าน และวัดในอำเภอท่าวังผา เพื่อพัฒนาหลักสูตรการสอนและถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชน ได้มีประสบการณ์วิชาชีพการทำเกษตร โดยอิงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการทำนา ปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา เป็นต้น"
นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าโรงสีข้าวพระราชทานท่าวังผา ยังเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟภูพยัคฆ์ ซึ่งมีการตกแต่งสวยงาม รูปแบบของร้านยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะชาวจังหวัดน่าน ซึ่งร้านกาแฟภูพยัคฆ์แห่งนี้ เกิดจากการที่สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ รับสั่งว่าให้ทำโรงสีข้าวฯเป็นประโยชน์มากที่สุด ดังนั้น ในช่วงเทศกาลจึงเปิดให้เป็นจุดพักรถ และเริ่มนำกาแฟสดมาจำหน่าย ปรากฏว่าได้รับการตอบรับดีมากจากนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่
"คนส่วนมากไม่รู้จักโรงสีข้าว แต่เพราะแวะมาดื่มกาแฟ มานั่งพักและเดินชมดอกไม้ภายในบริเวณโดยรอบร้านกาแฟภูพยัคฆ์ ทำให้ได้รู้จักโรงสีข้าวของที่นี่ไปด้วย และยิ่งเมื่อทราบว่าเป็นโรงสีข้าวพระราชทาน ก็ยิ่งสนใจมากขึ้น เข้ามาสอบถามข้อมูลและเดินมาเยี่ยมชมกระบวนการทำงานภายในโรงสี รวมถึงซื้อข้าวสารของที่นี่ไปทดลองบริโภคด้วย นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานและผู้นำเกษตรกรจากชุมชนต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดน่านและนอกพื้นที่ ติดต่อเข้ามาเยี่ยมชมงานที่โรงสีข้าวแห่งนี้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี"
โรงสีข้าวพระราชทานแห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนสายธารแห่งพระเมตตาที่ช่วยโอบอุ้มราษฎรชาวท่าวังผาในยามที่ได้รับความทุกข์ร้อนให้สามารถลุกขึ้นยืนและเดินต่อได้ ด้วยอาศัยแนวทางของสหกรณ์ที่ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ส่งเสริมความรักสามัคคีของคนในชุมชน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และสร้างอาชีพและรายได้จากการใช้ประโยชน์ของทรัพย์ในดิน ผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด "ข้าวน่าน เพื่อชาวน่าน"