กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยกรณีในสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ กทม. ใช้รถงับขยะ วัชพืช ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวดน้ำ ที่นอน ฯลฯ บริเวณท่าขยะคลองลาดพร้าวใต้ทางด่วนถนนประดิษฐ์มนูธรรม โดยมีผู้วิจารณ์การดำเนินการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาสาเหตุการทิ้งขยะในแม่น้ำคูคลอง เพื่อหาแนวทางและวิธีการแก้ไข ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ทิ้งขยะในที่สาธารณะว่า กทม. ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ทิ้งขยะในแม่น้ำคูคลองและที่สาธารณะ โดยบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนราชการภายในสำนักงานเขต และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งนอกจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์แล้ว สำนักงานเขตยังได้จัดกิจกรรมจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่เป็นประจำทุกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ประกาศสำนักงานเขต เรื่อง นัดเวลาทิ้ง นัดเวลาเก็บขยะชิ้นใหญ่ วัสดุรีไซเคิล ขยะอันตราย การประกาศเสียงตามสายของชุมชน แอปพลิเคชันไลน์ของหมู่บ้าน และสื่อสังคมออนไลน์ของสำนักงานเขต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมวิทยากรแกนนำในการจัดการขยะชุมชน ทั้งเรื่องกฎหมายการจัดการขยะ การรณรงค์แยกขยะก่อนทิ้ง ด้วยหลัก 3 ช ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อยกระดับชุมชนที่อยู่ริมคลองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะอาด มีการจัดการมูลฝอยอย่างเป็นระบบ อีกทั้งได้เร่งบังคับใช้กฎหมายการจัดการขยะในทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัด
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ของ กทม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปีครอบคลุมทั้งพื้นที่ มีรายละเอียดของ วัน เวลา และสถานที่ดำเนินกิจกรรม พร้อมมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเรื่องวัสดุอุปกรณ์และอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน รวมทั้งศึกษาและสำรวจปริมาณขยะชิ้นใหญ่ โดยคัดเลือกสำนักงานเขต กลุ่มโซนละ 2 เขต รวม 12 เขต พบปริมาณขยะชิ้นใหญ่ที่จัดเก็บได้ประมาณ 342 ตัน/เดือน แบ่งเป็นขยะที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ ร้อยละ 62.52 และขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องนำไปกำจัด ร้อยละ 37.48 โดยขยะชิ้นใหญ่ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ดังกล่าว กทม. จะรวบรวมที่ศูนย์เรียนรู้สำนักงานเขตเพื่อซ่อมแซมนำไปใช้งานหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ยางรถยนต์เก่านำไปทำกระถางต้นไม้ เป็นต้น