กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลพยากรณ์การผลิตกระเทียม ปี 2563 หรือปีเพาะปลูก 2562/63 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 25 กันยายน 2562) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก รวมทั้งประเทศ 80,254 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 80,183 ไร่ ผลผลิตรวม 85,285 ตัน ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,064 กก./ไร่ โดยเนื้อที่เพาะปลูกกคาดว่าลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคากระเทียมแห้งคละที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาลดลงจาก ปี 2561 เกษตรกรในบางพื้นที่จึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น พืชผัก หอมแบ่ง มันแกว อย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น มีน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และไม่มีฝนช่วงใกล้เก็บเกี่ยว จะส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้นแต่ไม่มากนัก
สำหรับสถานการณ์ราคากระเทียมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุพ่อค้ารับซื้อผลผลิตน้อยลงเพราะตลาดปลายทางชะลอตัว ประกอบกับมีการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศที่มีราคาที่ต่ำกว่าเข้ามาขายแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยราคากระเทียมแห้งคละเฉลี่ย ปี 2562 อยู่ที่ 36.44 บาท/กก. และราคากระเทียมสดคละเฉลี่ย ปี 2562 อยู่ที่ 8.11 บาท/กก. ดังนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่จึงแขวนไว้เพื่อรอราคายังไม่นำออกมาจำหน่าย และส่วนหนึ่งเก็บไว้ทำพันธุ์ โดยค่าพันธุ์กระเทียม ปี 2562 ได้ปรับตัวลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 65.03 บาท/กก.
ด้านนางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ราคากระเทียมและค่าพันธุ์กระเทียม ที่ลดลง ได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระเทียมลดลงไปด้วย โดยพบว่า ปี 2562 ต้นทุนการผลิตกระเทียม เฉลี่ย 29.84 บาท/กก. หรือคิดเป็น 31,422 บาท/ไร่ โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงาน ได้แก่ ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าดูแลรักษา และค่าเก็บเกี่ยว ประมาณ ร้อยละ 40 ค่าวัสดุอื่นๆ ได้แก่ ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืช ร้อยละ 53 ค่าเสียโอกาสของเงินลงทุน ร้อยละ 2 และ ค่าต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าที่ดิน ค่าเสื่อมอุปกรณ์การเกษตร ประมาณร้อยละ 5 ทั้งนี้ ผลผลิตกระเทียมในปีเพาะปลูก 2562/63 จะเริ่มออกสู่ตลาดในเดือนธันวาคม 2562 โดยจะออกมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2563 ถึงร้อยละ 68 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแนวทางการบริหารจัดการกระเทียมในปี 2563 เพื่อรองรับในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านราคา โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ และมีการปรับราคาประเมินเพื่อเสียภาษีนำเข้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบสต็อกกระเทียมของผู้ประกอบการ ให้มีการนำเข้าอย่างถูกต้อง ป้องกันไม่ให้มีการกักตุนกระเทียมเพื่อเก็งกำไร และดำเนินมาตรการช่วยกระจายผลผลิตกระเทียมออกนอกแหล่งผลิตอย่างต่อเนื่อง