กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
น.ส.จิตรลดา ชูมี อาจารย์หัวหน้าสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า "เป็นบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมใหม่รักษ์โลกที่ทีมวิจัยโดยอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดาษมะพร้าว ภายใต้ชื่อ COCONUT BIOWARE โดยนำวัตถุดิบเปลือกมะพร้าวที่เหลือทิ้งของชุมชนบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ในการผลิตน้ำมะพร้าวและกะทิที่มีปริมาณจำนวนมากตลอดทั้งปี ผ่านกระบวนการผลิตเป็นกระดาษมะพร้าว นำมาขึ้นรูปเป็นภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งผลงานดังกล่าวนี้เป็นการต่อยอดนวัตกรรมสีเขียวจากงานวิจัย "กระดาษเปลือกมะพร้าวผสมสา" ที่ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงยังได้รับรางวัลจากการนำเสนอผลงานวิจัยบนเวทีนานาชาติ ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผลิตภัณฑ์นี้ เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าขยะทางการเกษตร ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและช่วยลดขยะประเภทกล่องโฟม ถุงและภาชนะพลาสติกอีกหลายชนิด เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดภาวะโลกร้อนได้ อีกทั้ง ยังสามารถควบคุมความสะอาดในกระบวนการผลิตให้ปลอดจากจุลินทรีย์ก่อโรคได้ และใช้กระบวนการขึ้นรูปภาชนะที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมได้ทันที ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชนให้พัฒนานวัตกรรมเป็นบรรจุภัณฑ์ภาชนะบนโต๊ะอาหารจากกระดาษมะพร้าวที่ใช้ได้จริง โดยทดลองขึ้นรูปกับเครื่องเป็นภาชนะ ต้องอาศัยแรงอัด ความร้อน และส่วนผสมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมภาชนะรักษ์โลกได้สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง
สำหรับภาชนะจากวัสดุธรรมชาติกำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก ความต้องการของตลาดภาชนะที่ย่อยสลายได้ง่ายกำลังเป็นที่จับตามอง และเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ปัจจุบันมีการวิจัยพัฒนานวัตกรรมภาชนะจากวัสดุชีวภาพ ได้แก่ การนำใบไม้ เช่น ใบสัก ใบบัว กาบหมาก กาบกล้วย เป็นต้น มาขึ้นรูปเป็นภาชนะ พบว่าสามารถขึ้นรูปได้แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของวัตถุดิบให้สม่ำเสมอได้ ทำความสะอาดวัตถุดิบได้ยาก มีสารปนเปื้อนหลุดออกจากภาชนะเมื่อนำมาใส่อาหารผลิตภัณฑ์จากกระดาษเปลือกมะพร้าว เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในช่องทางตลาดใหม่ๆ เปิดกว้างให้ชุมชนมีความหวัง ผลจากการทำงานที่ได้ใช้ความรู้จากการเรียนมาสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นได้จริง ทำให้นักศึกษาเปลี่ยนทัศนคติต่อจิตอาสา เห็นคุณค่าของการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น สิ่งที่กำลังเปิดโลกของนักศึกษาที่เคยจมอยู่กับตำราเรียน ได้ทดสอบความรู้ที่เรียนมาด้วยการลงมือปฏิบัติ จนเกิดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เกิดความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจในวิชาชีพของตนเองอีกด้วย น.ส.จิตรลดา กล่าวในที่สุด