กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
จากกรณีผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรในนามกลุ่มจตุจักรพัฒนา รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านการจอดรถแบบเต็มวันบนถนนคนเดินภายในตลาดนัดจตุจักร โดยระบุการจอดรถบนถนนคนเดิน ควรเป็นไปตามแนวทางเดิมที่ กทม. กำหนดไว้ คือ ให้จอดได้ถึงเวลา 12.00 น. เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพื้นที่ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมเรียกร้องให้มีตลาดปูผ้ากลางคืนต่อไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มผู้ค้าในนามสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กทม. เรียกคืนพื้นที่ส่วนกลางภายในตลาดนัดจตุจักรทั้งหมดให้กลับมาเป็นที่จอดรถเช่นเดิม รวมทั้งขอให้ยกเลิกการปูผ้าขายสินค้าบนพื้นผิวจราจรส่วนกลางและย้ายตลาดปูผ้าเข้าไปในพื้นที่ว่างบริเวณลานเร่ เนื่องจากตามประกาศให้ปูผ้าขายได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของคืนวันศุกร์ - อาทิตย์ แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ค้าปูผ้าขายสินค้าตั้งแต่ช่วงกลางวัน นอกจากนี้ ขอให้ กทม. ตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบสิทธิจุดผ่อนผันผ่อนปรนย้อนหลัง โดยให้ยึดรายชื่อและระเบียบจุดผ่อนผันผ่อนปรนปี 2554 นั้น
นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากกรุงเทพมหานครรับมอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางและมาตรการจัดระเบียบด้านต่าง ๆ ภายในตลาดนัดจตุจักร เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าและผู้มาใช้บริการตลาดนัดจตุจักร โดยจัดระเบียบแผงค้า รวมทั้งใช้มาตรการบังคับตามสัญญาจากเบาไปหาหนักและมุ่งเน้นขอความร่วมมือจากผู้ค้า ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าทุกกลุ่มในวันเสาร์ที่ 3 ของทุกเดือน สำหรับกรณีผู้ค้าต้องการให้รถยนต์สามารถเข้ามาจอดรถในตลาดได้ตลอดทั้งวัน ที่ประชุมมีข้อสรุปให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนจากศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนจากกลุ่มผู้ค้าทุกกลุ่ม โดยให้เจ้าหน้าที่ตลาดนัดจตุจักร เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาทำงาน 30 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานดังกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขอให้ยึดรายชื่อผู้ค้าและระเบียบจุดผ่อนผันผ่อนปรนเมื่อปี 2554 นั้น หาก กทม. ดำเนินการโดยยึดถือบัญชีผู้ค้าในปี 2554 จะขัดแย้งกับบันทึกข้อตกลงระหว่าง กทม. กับ ร.ฟ.ท. ที่ ร.ฟ.ท. ส่งมอบให้กับ กทม. ดำเนินการ และจะส่งผลกระทบกับผู้ค้าประมาณ 2,000 ราย ที่ กทม. จะต้องยกเลิกสัญญา อย่างไรก็ตาม สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จะได้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิในการเช่าแผงค้าที่เกินจำนวนหรือนำไปให้เช่าช่วงหรือกระทำผิดสัญญาเช่าแผงค้าอย่างเคร่งครัดต่อไป