กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา ดึงเทศกาลลอยกระทง ฟื้นฟูจิตใจ สังคมให้ผู้ป่วยจิตเวช โดยให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในรพ. ประดิษฐ์กระทงหลากแบบและสีสัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เองและจำหน่ายให้เจ้าหน้าที่และประชาชน ระบุผลที่ได้มีทั้งฟื้นฟูพลังสมอง สมาธิ ความภูมิใจ ความหวัง ความสุขอิ่มเอิบใจให้ผู้ป่วยเหมือนอยู่บ้าน เอื้อผลต่อการฟื้นคืนสู่สภาวะปกติ พร้อมย้ำครอบครัวอย่าลืมเด็กที่ป่วยจิตเวช ขอให้ใช้โอกาสลอยกระทงสร้างความสนุก ปลูกฝังความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่น
วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2562)นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมาให้สัมภาษณ์ว่า เทศกาลวันลอยกระทงวันนี้ รพ.จิตเวชฯโดยทีมสหวิชาชีพ ชมรมจริยธรรมของรพ.ได้จัดกิจกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชที่พักรักษาตัวในรพ.มีเฉลี่ยวันละประมาณ 300 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 มีอาการสงบดีแล้ว ได้ร่วมสืบสานประเพณี เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจเหมือนอยู่ที่บ้าน และเอื้อต่อการฟื้นฟูจิตใจยิ่งขึ้น เนื่องจากเทศกาลลอยกระทงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ผู้ป่วยเคยคุ้นเคยมาอยู่แล้ว โดยได้สนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่อาการทางจิตสงบดีแล้ว จัดทำกระทง ออกแบบตามแนวความคิดของตนเอง ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเช่นใบตองขนมปังกรอบที่ใช้เลี้ยงปลา มีหลายขนาด หลากสีสัน เพื่อใช้สำหรับลอยเองและทำเพื่อจำหน่ายให้บุคลากรและประชาชนที่มาใช้บริการที่รพ. สร้างรายได้ให้ผู้ป่วยด้วย โดยวางจำหน่ายที่แผนกผู้ป่วยนอก ราคาย่อมเยาเป็นพิเศษ
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ผลจากการที่ผู้ป่วยได้ทำกระทง ซึ่งเป็นงานศิลปะ มีความละเอียด สวยงาม จะเป็นการดึงสมรรถนะและศักยภาพของผู้ป่วยที่สูญเสียหรือบกพร่องไปขณะป่วยให้กลับคืนมาทั้งการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการทำงานของสมอง ระบบประสาทสัมผัสทั้งตา มือให้สัมพันธ์กัน ช่วยสร้างสมาธิให้ผู้ป่วย และงานกระทงเห็นผลสำเร็จได้เร็ว จะช่วยเรียกความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ ผู้ป่วยมีความหวังในการดำเนินชีวิตเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ซึ่งในคืนลอยกระทง รพ.ได้จัดอ่างน้ำเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชได้อธิษฐาน สร้างความหวังในชีวิต และได้ลอยกระทงจริง สร้างความสุขและการมีส่วนร่วมทำความดีในการขอขมาแม่น้ำตามประเพณีไทย ช่วยคลายความคิดถึงบ้านด้วย
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในชุมชนซึ่งมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งในเขตนครชัยบุรินทร์คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์มีกว่า 1 แสนคน ญาติสามารถพาไปร่วมกิจกรรมในวันลอยกระทงได้ จะเป็นผลดีต่อจิตใจของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกมีคุณค่า มีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครอบครัว และสังคมช่วยสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนดียิ่งขึ้น
กลุ่มที่2 คือกลุ่มเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ที่สำคัญ 4 โรคคือสมาธิสั้น ออทิสติก เด็กบกพร่องทางสติปัญญา และบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งมีประมาณ 4 หมื่นกว่าคน ถึงแม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะเจ็บป่วยแต่ก็มีความต้องการความสนุกสนานเช่นเดียวกับเด็กปกติ เช่นกัน จึงเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะสร้างความผูกพันพาเด็กๆเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กทำกระทง เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมาย สอดแทรกการทำความดีทดแทนบุญคุณของธรรมชาติ โดยการขอขมาพระแม่คงคา เปรียบเสมือนเป็นการฝึกการขอโทษให้เด็กหลังจากที่ทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดี ผลดีจากการพาเด็กป่วยจิตเวชเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงนี้ นอกจากเด็กจะได้รับความสุขแล้ว จะส่งผลให้เด็กเห็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ ทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่น เกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำความดี รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
ทางด้านนางสาวนิศากร แก้วพิลา พยาบาลจิตเวช หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชหญิงทองอุไร รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยจิตเวช เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ทั้งด้านสังคม จิตใจ จิตวิญญาณให้ผู้ป่วยอย่างครบถ้วนที่สุดก่อนกลับไปอยู่ที่บ้านและชุมชน จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคหัวใจหลักคือการพัฒนาศักยภาพของผู้ป่วยให้เกิดความหวังในชีวิต ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญให้ผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่เกิดจากความเจ็บป่วยและดำเนินชีวิตด้านต่างๆต่อไปได้เช่นการประกอบอาชีพ การศึกษา สุขภาพกายและจิต โดยผู้ป่วยจะมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ด้านคือ 1.มีภาพลักษณ์ด้านบวก ยิ้มแย้ม พูดคุย มีมนุษยสัมพันธ์เหมือนคนปกติทั่วไป 2.สามารถจัดการและอยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย 3. สามารถจัดการกับอาการที่หลงเหลืออยู่ได้ด้วยตนเอง และ4.พัฒนาบทบาททางสังคม เพื่อเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสังคม