กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ก.ล.ต.
ในฐานะผู้ลงทุน คุณนิยามคำว่า "จุดมุ่งหมายการลงทุน" ของคุณไว้อย่างไร?
- ไม่รู้หรอกว่าการลงทุนคืออะไร รู้แต่ว่าไม่เสี่ยงเด็ดขาด
- ไม่เข้าใจการลงทุนเลย ช่วยแนะนำหน่อยได้ไหม
- การลงทุนคือ การใส่เงินลงไปในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แล้วต้องได้ผลตอบแทนที่เป็นบวกกลับมา
- อ๋อ เห็นเค้าว่าการลงทุนนี้ดีนะ ได้ผลตอบแทนทุกเดือน คนมีชื่อเสียงคนนั้นก็ร่วมลงทุนด้วย
- การลงทุน คือการทำให้เงินงอกเงย แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาต้องแลกกับความเสี่ยง ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูงๆ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงสูงได้
สิ่งที่ทำให้เส้นทางไปสู่จุดมุ่งหมายการลงทุนของแต่ละคนแตกต่างกันเหมือนนิยามข้างต้น คือ ความรู้ ความเข้าใจต่อสินทรัพย์ที่เรากำลังจะลงทุน ว่ามันคืออะไร เสี่ยงแค่ไหน และได้ผลตอบแทนมาในรูปแบบไหนบ้าง แน่นอนว่าคนที่ศึกษามาดีจนเข้าใจ เปรียบได้กับคนที่มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน เสมือนมีเกราะป้องกันตัวเองให้รอดจาก ทั้งการเปลี่ยนแปลง ความผันผวนของตลาด และกลโกงที่มาในรูปแบบการชักจูงด้วยการให้ผลตอบแทนสูง ๆ แล้วถ้าอยากเป็นผู้ลงทุนที่มีเกราะป้องกันตัวเองแบบนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
สิ่งสำคัญที่ต้องทำอันดับแรกคือ รู้จักตนเองก่อนว่า ตัวเรานั้นสามารถรับความเสี่ยงต่อการลงทุนได้กี่มากน้อย ต่อจากนั้นคือความเข้าใจที่ถูกต้องต่อตลาดทุน ความหมายคือ ต้องรู้ว่าตลาดทุนมีสินทรัพย์ประเภทไหนบ้างที่สามารถลงทุนได้ แล้วระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภทก็ไม่เท่ากัน คาดหวังผลตอบแทนได้ต่างกัน และถ้าอยากลงทุนจะสามารถซื้อผ่านใครได้บ้าง ถ้าผู้ลงทุนสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านี้ได้ ก็เหมือนมีเกราะป้องกันตัวเอง สามารถรับผิดชอบการเงินและการลงทุนของตนเอง (responsible investor) และป้องกันการถูกหลอกได้
ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุน ให้ความสำคัญต่อการสร้างผู้ลงทุนที่สามารถรับผิดชอบการเงิน และการลงทุนของตนเองได้ เพื่อเป้าหมายการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้พัฒนาเครื่องมือที่หลากหลาย และเหมาะกับผู้ลงทุนทุกระดับ ทั้งมือใหม่ที่อยากจะเริ่มต้นลงทุน คนวัยทำงานไปจนถึงวางแผนเพื่อวัยเกษียณ อาทิ แอปพลิเคชัน start-to-invest แอปพลิเคชัน SEC Check First แอปพลิเคชัน retirement-checkup และ แอปพลิเคชัน suitability test หรือการประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนร้องเรียนกรณีได้รับความไม่เป็นธรรมในตลาดทุน หรือแจ้งเบาะแสกรณีพบความผิดปกติที่อาจเข้าข่ายหลอกลวง และยังให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ หากเกิดความเสียหายจากการถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนอีกด้วย ซึ่งบทบาทเหล่านี้จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจมากขึ้น ว่ายังมีหน่วยงานที่พร้อมจะดูแล เป็นหูเป็นตาแทนผู้ลงทุน ในส่วนที่ข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ลงทุนอาจจะเข้าไม่ถึง
ผู้ต้องการระดมทุน
บทบาทอีกด้านของ ก.ล.ต. ที่ต้องดูแลและพัฒนาควบคู่กันไป คือ การออกเกณฑ์ให้ตลาดทุนเอื้อต่อการเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ที่ต้องการระดมทุนทุกระดับ ทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เช่น การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) การออกและเสนอขายหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ประเภทต่างๆ การระดมทุนผ่าน crowdfunding เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมให้สินค้าในตลาดทุนอย่างบริษัทจดทะเบียน ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการประกอบกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ไปจนถึงการสร้างระบบนิเวศการลงทุนที่ดีด้วยการสนับสนุนให้มีทางเลือกผ่านการลงทุนในหุ้น ESG
ซึ่งบทบาทเหล่านี้ คือหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่จะคุ้มครองผู้ลงทุนตลอดเส้นทางการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และช่วยผู้ระดมทุนที่ต้องการใช้ตลาดทุนเป็นเส้นทางสู่การขยายกิจการเพื่ออนาคต การจะเป็นผู้ลงทุนหรือผู้ระดมทุนที่ประสบความสำเร็จได้ การประเมินของแต่ละคนคงแตกต่างกัน เพราะเป้าหมายความสำเร็จของแต่ละคนย่อมต่างกัน แต่ถ้าอยากเดินทางบนตลาดทุนอย่างมั่นใจ สู่จุดหมายอย่างมั่นคง เชิญชวนสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวท่านเอง ที่บูธ ก.ล.ต. ภายในงาน SET in the City 2019 ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2562 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน งานนี้ อาจจะทำให้นิยามของเส้นทางบนตลาดทุนสู่จุดหมายของคุณจะเปลี่ยนไป!