กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในซอยสุขุมวิท 101 และ 103
(ซอยอุดมสุข) เขตบางนา เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 38 ชั้น 9 อาคาร ในซอยอุดมสุข อาทิ ปัญหาการก่อสร้างในเวลากลางคืน ปัญหาฝุ่นละออง
ปัญหามลภาวะทางเสียงและความสั่นสะเทือน การไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามแนวทาง การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) ประสานแจ้งหน่วยงานอนุญาต ประกอบด้วย สำนักการโยธาและสำนักงานเขต เพื่อให้เข้มงวดในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัด 2) ให้เจ้าของโครงการหรือผู้ประกอบการ
จัดทำและนำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยรายงานฉบับประจำเดือน ม.ค. - มิ.ย. นำส่งภายในวันที่ 31 ก.ค. ของทุกปี ฉบับประจำเดือน ก.ค. - ธ.ค. นำส่งภายในวันที่ 31 ม.ค. ของปีถัดไป 3) แต่งตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมฝุ่นละอองและเสียงใน EIA ซึ่งที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านฝุ่นละอองและเสียงอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าปฏิบัติไม่ครบถ้วนหรือไม่มีประสิทธิภาพจะแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไขและรายงานผลมายังสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักงานเขตภายในเวลาที่กำหนด สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 9 อาคาร บริเวณซอยสุขุมวิท 101 และ 103 (ซอยอุดมสุข) เขตบางนา สำนักสิ่งแวดล้อมจะประสานสำนักการโยธา และสำนักงานเขตบางนา เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ในปี 2563 จะขยายผลการติดตามตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA โดยครอบคลุมโครงการก่อสร้างที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ตลอดจนป้องกันปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากผลกระทบจากการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่าในส่วนของสำนักการโยธา ได้จัดการประชุมหารือร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งทางโครงการฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแล้วบางส่วน และยังอยู่ระหว่างการเจรจาและทำข้อตกลงระหว่างโครงการฯกับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สำนักการโยธาและสำนักงานเขตบางนาได้ร่วมกันตรวจสอบมาตรการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ และมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA พร้อมทั้งได้กำชับให้โครงการฯ ปฏิบัติตามข้อกำหนดใน EIA อย่างเคร่งครัด
นายณัฐสันต์ จันทเตมีย์ ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตบางนาได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคือ กลุ่มผู้พักอาศัยในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโครงการก่อสร้างฯ โดยหมู่บ้านดังกล่าว มีผู้ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างประมาณ 100 หลังคาเรือน ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ได้ทำการตกลงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 70 หลังคาเรือน เหลือประมาณ 30 หลังคาเรือนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดให้มีการประชุมแก้ไขผลกระทบจากการก่อสร้าง ระหว่างเจ้าของโครงการฯ และผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างที่ยังไม่สามารถตกลงเยียวยาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องได้ยื่นข้อเสนอให้โครงการฯ พิจารณาค่าชดเชยจากการบดบังแสงแดด ทิศทางลม สัญญาณทีวี สัญญาณสื่อสาร เป็นระยะเวลา 50 ปี รวมทั้งค่าชดเชยบดบังทัศนียภาพ รวมเป็นเงินประมาณ 1,632,500 บาท ต่อหลัง
ผู้อำนวยการเขตบางนา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้เข้าตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลโครงการฯให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างเคร่งครัด ซึ่งทางโครงการฯ ได้ส่งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือน โดยบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานว่าผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือนยังอยู่ในเกณฑ์และไม่เกินมาตรฐานตามประกาศคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและประกาศของกรมควบคุมมลพิษ