กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--ม.มหิดล
เมื่อเร็วๆ นี้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้ผลงาน "การสังเคราะห์อนุภาคพอลิเมทิล เมทาคริเลท (PMMA) ที่ล้อมรอบด้วยอนุภาคเงินขนาดนาโน/ไคโตซาน เพื่อเตรียมแผ่นฟิล์มลาเทกซ์ยางธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย" ของ นางสาวจิตรดา ว่องปรีชา มหาบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นผลงานที่มี ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งเป็นนักวิจัยไทยท่านแรกที่ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกของ International Polymer Colloids Group (IPCG) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
งานวิจัยของ นางสาวจิตรดา ว่องปรีชา เป็นการต่อยอดจากกลุ่มวิจัยพอลิเมอร์คอลลอยด์ของ ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ที่ได้ศึกษาน้ำยางธรรมชาติที่ได้มาจากต้นยางพารา มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือแพทย์ ซึ่งมีความยุ่งยากในการใส่/ถอด จึงอาจแก้ปัญหาง่ายๆด้วยการโรยแป้งเพื่อทำให้ลื่นขึ้น แต่พบว่าอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่แพ้ และไม่สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้มีการสังเคราะห์อนุภาคพอลิเมอร์ PMMA ขนาดนาโนแล้วใช้เคลือบถุงมือยางแทนผงแป้ง โดยทำให้อนุภาคนาโนที่มีความแข็งนี้ยึดติดกับแผ่นยางได้อย่างแข็งแรง เพิ่มความขรุขระ และลดแรงเสียดทานของผ่านยางได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถบรรจุยาฆ่าเชื้อโรคให้อยู่ระหว่างฟิล์มยางธรรมชาติได้อีกด้วย โดย นางสาวจิตรดา ว่องปรีชา ได้ทำการขยายผลด้วยการทำให้แผ่นฟิล์มลาเทกซ์ยางธรรมชาติที่มีแรงเสียดทานน้อยลงแล้วนี้มีฤทธิ์ในต้านเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้น โดยได้ใช้อนุภาคเงินขนาดนาโนที่สังเคราะห์ขึ้นอย่างง่ายๆ จากการใช้ไคโตซาน (chitosan) ที่มาจากเปลือกกุ้ง-ปู แทนกรรมวิธีเดิมที่ใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษ แล้วใช้ห่อหุ้มรอบอนุภาค PMMA ก่อนจะอนุภาคที่มีรูปร่างคล้ายน้อยหน่านี้ไปเคลือบลงบนแผ่นฟิล์มยางธรรมชาติ ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าแผ่นยางธรรมชาติที่ได้นั้น นอกจากจะมีความขรุขระ ยังไม่เป็นพิษต่อเซลล์ที่ใช้ทดลองเนื่องจากผิวของแผ่นยางที่มีอนุภาคนานี้ไม่แนบสนิทกับผิวหนังซึ่งจะช่วยลดปัญหาการแพ้สารต่างๆที่มาจากน้ำยางพารา และที่สำคัญ คือ ทั้งไคโตซานและอนุภาคเงินมีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและลบ ซึ่งผลจากงานวิจัยนอกจากจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือ หรือ สายสวนปัสสาวะ เป็นต้นแล้ว ยังจะสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้เคลือบผิวของวัสดุอื่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ม่าน สุขภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ให้มีพื้นผิวที่แข็งแรง ทนต่อการขีดข่วนมากขึ้น และมีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรีย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณค่าน้ำยางธรรมชาติของไทย เพิ่มช่องทางในการประยุกต์ใช้น้ำยางธรรมชาติให้กว้างขึ้น หลากหลายขึ้น แบบมีนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ กล่าวเสริมว่า "เราชินกับความเป็นคนมหิดลที่ต้องสนใจงานวิจัยเชิงสุขภาพ สุขอนามัย โดยตระหนักดีว่า ในที่สุดแล้วสังคมมหิดลต้องตอบโจทย์ประเทศไทยในด้านใด โดยมุ่งในด้านที่เราเป็นเลิศ ซึ่งงานวิจัยของกลุ่มพอลิเมอร์มหิดล ก็พยายามจะทำวิจัยโดยมองไปในทิศทางเดียวกันกับมหาวิทยาลัย โดยใช้ความสามารถของเรา และของลูกศิษย์เราให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อที่จะเล่นเพลงในทำนองเดียวกัน ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งวิธีการเล่น เครื่องดนตรีอาจจะต่างกัน แต่ว่าในที่สุดเราร้องเพลงชาติไทยเหมือนกัน และทำทุกอย่างเพื่อประเทศไทยเช่นกัน"
"เราทำงานวิจัยกันด้วยความตระหนักดีว่าเรากำลังทำงานเพื่อประเทศไทยของเรา ทุกท่านทราบดีถึงปัญหาราคายางพารา ในมุมมองของนักวิจัยคนหนึ่งนั้น จริงๆ อาจเป็นเพราะว่า เราไม่ได้มีการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องยางพาราเท่าที่ควร ไม่ได้วิจัยอย่างที่ควรจะเป็น ได้แต่กรีดยางมาแล้วก็ขายไป ดังนั้น หากเราขายเป็นวัตถุดิบอะไรก็ตามที่เราไม่ได้ใส่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไป เราก็จะขายของราคาถูก แล้วคนที่ซื้อของจากเรา ก็จะซื้อเหมือนซื้อของจากคนอื่นทั่วไป แต่ถ้าเราทำการวิจัยและพัฒนาไปด้วย ก็จะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นกับยางพารา ทำให้เราได้วัสดุที่ดีขึ้น ได้สินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ จากของที่เคยราคาถูกก็จะมีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีของนักวิชาการที่จะช่วยชาวสวนยาง โดยผลจากงานวิจัยจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จากยางพาราแบบใหม่ที่ใครๆ ก็ต้องใช้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วยางพาราก็จะมีราคาสูงขึ้นเอง งานวิจัยยางพาราจึงเป็นงานที่มีคุณค่า ซึ่งนักวิจัยไทยควรทำ และเราก็ทำได้ดีเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นการเผยแพร่เกียรติภูมิของประเทศชาติในแง่มุมของนักวิชาการ ซึ่งสิ่งที่เราทำวิจัยมายาวนานอย่างทุ่มเทมาทั้งหมดนั้น อาจจะไม่เห็นผลในวันนี้ แต่เราจะเห็นผลในอนาคตกับรุ่นลูกรุ่นหลาน" ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ กล่าวทิ้งท้าย