วิจัยระบุควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เพราะเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า

ข่าวทั่วไป Thursday February 28, 2008 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ สวิตเซอร์แลนด์ แสดงผลการศึกษาวิจัยของแฟรงค์ ฮู รองศาสตราจารย์ด้านโภชนาการและระบาดวิทยา และ คิ ซัน ผู้ช่วยนักวิจัยที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกรดไขมันทรานส์กับการเกิดโรคหัวใจ โดยพบว่าผู้หญิงที่มีระดับของไขมันทรานส์ในเลือดสูงที่สุด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเปรียบ เทียบกับคนที่มีระดับไขมันทรานส์ในเลือดต่ำสุด
ไขมันทรานส์ เป็นไขมันที่พบได้จากกระบวนการแปรสภาพไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจน (Hydrogenation) ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมการผลิตเนยเทียม เนยขาว น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน
เนื่องจากคนเรานั้นไม่สามารถสร้างกรดไขมันทรานส์ได้ ปริมาณของกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบที่เซลล์เม็ดเลือดแดง จึงเป็นดัชนีที่ดีมากสำหรับใช้ตรวจสอบปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่รับประทานเข้าไปในร่างกาย
การศึกษาวิจัยชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ โดยทำการเก็บตัวอย่างเลือดในปี ค.ศ. 1989 และ 1990 จากอาสาสมัครจำนวนทั้งสิ้น 32,826 คนจากโครงการบริกแฮมและโครงการศึกษาสุขภาพของพยาบาลในโรงพยาบาลหญิง ทำการติดตามผลเป็นระยะเวลา 6 ปี พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจจำนวน 166 ราย
ผลทางคลินิกแสดงให้เห็นว่ากรดไขมันทรานส์ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มขึ้น และระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง ซึ่งให้ผลเช่นเดียวกับกรดไขมันอิ่มตัว หลังจากปรับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น อายุ การสูบบุหรี่ การบริโภคอาหาร และการใช้ชีวิต คณะผู้วิจัยพบว่าระดับกรดไขมันทรานส์ในเลือดที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มผู้หญิงที่มีปริมาณกรดไขมันทรานส์ในเม็ดเลือดแดงสูงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเป็น 3 เท่าของผู้หญิงที่มีกรดไขมันทรานส์ในเม็ดเลือดแดงต่ำ
จากหลักฐานผลงานวิจัยต่างๆ ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ต่างตื่นตัวใน เรื่องสุขภาพเป็นอย่างมาก และได้กำหนดให้อาหารที่มีปริมาณไขมันทรานส์เกิน 0.8 กรัมต่อการกิน 1 ครั้ง และอาหารที่มีปริมาณไขมันทรานส์รวมกับไขมันอิ่มตัวเกิน 4 กรัมต่อการกิน 1 ครั้ง ต้องระบุปริมาณไขมันไว้ในฉลากโภชนาการ และยังพยายามที่จะปรับการนำไขมันชนิดทรานส์มาใช้กับอาหารให้น้อยลงหรือ ไม่ใช้เลย โดยเฉพาะในร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลอดจนผู้ประกอบการด้านอาหาร รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดหรือเลิกบริโภคไขมันชนิดนี้ด้วย
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องระบุปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากโภชนาการ แต่การติดฉลากระบุปริมาณไขมันทรานส์ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งควรเพิ่มการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าปริมาณไขมันทรานส์และชนิดอื่นๆ ที่จะรับประทานไม่สูงเกินปริมาณแนะนำ
ฉะนั้น ในฐานะผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์สูง เช่นในมาการีนหรือเนยเทียม เนยขาว และน้ำมันทอดซ้ำจนเริ่มหนืด และลดอาหารที่มีความเสี่ยงรองลงมา ได้แก่ ไก่ทอด คุกกี้ เวเฟอร์ ขนมปัง มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยว หรือควรเลือกทานในปริมาณน้อยและไม่กินซ้ำบ่อยๆ หรือใน 1 วัน ควรรับประทานอาหารประเภททอด ผัด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน ไม่เกิน 1 มื้อ เช่น โดนัทไม่ควรกินเกิน 1 ชิ้นต่อ 1 วัน อีกทั้งไม่ควรกินซ้ำๆ บ่อยๆ หรือทุกวัน
รวบรวมข้อมูลและเผยแพร่: ศูนย์วิจัยเนสท์เล่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
และศูนย์ผู้บริโภคเนสท์เล่ ประเทศไทย
โทร. 0-2657 8657 e-mail: goodfood.nestle@th.nestle.com
สุมาลี ติณวัฒน์
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทร. 0-2651 8989 ต่อ 336

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ