กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--มาเธอร์ ครีเอชั่น
"อาทิตย์เวนติเลเตอร์" ผู้ประกอบการไทยโชว์นวัตกรรมลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม การันตีด้วยรางวัลไทยแลนด์เอเนอร์จี้อวอร์ดด้าน นวัตกรรมดีเด่น พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งโรงงานอุตสาหกรรม อาคารที่อยู่อาศัย สถานศึกษา โรงพยาบาล มุ่งประหยัดพลังงานรักษ์โลก
นายระพี บุญบุตร ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด อาทิตย์เวนติเลเตอร์ หนึ่งในผู้นำในการพัฒนาพัดลมระบายอากาศติดตั้งบนหลังคาในภาคอุตสาหกรรมไทย เปิดเผย ว่า บริษัทได้วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีบ้านพักอาศัยในเมือง ด้วยการติดตั้งลูกหมุนระบายอากาศที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ New Energy Ventilators (NEV) ที่ใช้กำลังแรงลมระดับต่ำเป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นจากคนไทยและได้รับการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลก ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีเฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวที่มีการผสมผสานจากอุปกรณ์พื้นฐานที่เป็นลูกหมุนระบายความร้อน และมลพิษภายในอาคาร บ้านเรือน โรงงาน มาสู่การเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบายความร้อนโดยใช้พลังงานลม นับเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับศักยภาพลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากจะช่วยระบายอากาศร้อนภายในอาคาร ก็ยังสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บไว้จากการผลิตของลูกหมุน NEV ผ่านระบบกล่องแปลงไฟฟ้า เพื่อนำไฟฟ้าที่ได้ไปกักเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่ เพื่อใช้ประโยชน์กับระบบส่งสว่างในเวลากลางคืน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โคมไฟ ชาร์ทมือถือ เป็นต้น รวมถึงยังช่วยระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาลูกการคิดค้นนวัตกรรมลูกหมุน NEV ถือว่าได้รับการยอมรับทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มโรงเรียน และ ศาสนสถาน ทำให้บริษัทได้รับรางวัลดีเด่น Thailand Energy Award กระทรวงพลังงาน ประเภทพลังงานทดแทน สาขานวัตกรรมในปีที่ผ่านมา
"บริษัทได้มีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมลูกหมุนมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน รวมถึงยังเป็นผู้ผลิตพลังงานเพื่อใช้ภายในบ้านหรือโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทสามารถ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่เป็นผู้ผลิตลุกหมุนระบายอากาศมากว่า 30 ปี ซึ่งบริษัทพร้อมที่จะขยายตลาดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารที่อยู่อาศัย สถานศึกษา สถานพยาบาล ที่มีความต้องการติดตั้งอุปกรณ์ลูกหมุนระบายอากาศอีกด้วย" นายระพีกล่าว