กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--กรุงเทพดุสิตเวชการ
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS แถลงเปิดงานเสวนา Dek Talk by BDMS ในหัวข้อ "Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้น "ดอกไม้ในคมมีด" ให้ความสำคัญในการสร้างสังคมปลอดประทุษวาจา (Hate Speech) ลดการใช้คำพูดเชิงลบที่สร้างผลกระทบต่อจิตใจผู้อื่น กรมสุขภาพจิตเผยว่า ในปัจจุบันเด็กไทยมีสถิติถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง หรือ บูลลี (Bullying) 80% และในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) 45% ซึ่งได้สร้างความแตกแยก และความเกลียดชังต่อผู้คนในสังคม
BDMS จึงได้จัดทำภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์การส่งต่อคำพูดที่สร้างสรรค์สู่สังคมไทย ลดการทำร้ายจิตใจผ่านคำพูด สร้างการตระหนักรู้สู่สังคมในข้อเท็จจริงที่ว่า เราทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีบุคคลใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถูกตัดสินและได้รับถ้อยคำวิจารณ์ รูปลักษณ์ภายนอก เพศสภาพ หรือเชื้อชาติที่แตกต่างในเชิงลบทั้งสิ้น ดังนั้น การรณรงค์ลดการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสังคมที่ BDMS ให้ความสำคัญในขณะนี้
รศ. อัจจิมา เศรษฐบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส ฝ่ายกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SVP - CSD) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "BDMS ได้ให้ความสำคัญในการสร้างสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด ซึ่งโครงการ "Shared Kindness - คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่" เป็นอีกหนึ่งโครงการของ BDMS ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเด็กๆ ทั้ง 4 ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม workshop สร้างทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เสริมสร้างความมั่นใจให้กล้าคิดและกล้าแสดงออกในทางที่เหมาะสม โดยในระหว่างการทำกิจกรรม ได้สำรวจพฤติกรรม และได้รวบรวมเสียงสะท้อน พบมุมมองเรื่องปัญหาสังคม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่พูดเรื่องอยากเห็นคนไทย หยุดทำร้ายจิตใจผู้อื่นด้วยคำพูด ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงจัดทำภาพยนตร์สั้น "ดอกไม้ในคมมีด" ขึ้นมา ด้วยความเชื่อมั่นว่า หนังสั้นเรื่องนี้จะสามารถเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนสังคมในปัจจุบันได้ โดยต้องการสร้างความตระหนักรู้สู่สังคม เปลี่ยนมุมมองเรื่องการใช้คำพูดเชิงลบ ให้ความสำคัญกับการใช้คำพูดในทางที่สร้างสรรค์ สร้างการตระหนักคิดและไตร่ตรองเรื่องการส่งต่อคำพูดเชิงลบที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นให้มากขึ้น"
คุณอมร หะริณนิติสุข ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ดอกไม้ในคมมีด" กล่าวถึงไอเดียที่ต้องการสื่อสารแก่ผู้ชมว่า "คำพูดที่เราพูดออกไป สามารถสร้างความสุข รอยยิ้ม และความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้ฟัง เปรียบได้กับดอกไม้ที่สวยงามและน่าชม อย่างไรก็ตาม คำพูดก็สามารถสร้างความทุกข์ และความเจ็บปวด เสมือนกับอาวุธที่สามารถทำร้ายจิตใจผู้ฟังได้เช่นกัน ดังนั้นแก่นของหนังเรื่องนี้จึงต้องการนำเสนอให้เห็นว่า คำพูดสามารถเป็นได้ทั้งอาวุธและดอกไม้"
"น้องปลาเข็ม" เป็นตัวอย่างของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจผ่านคำพูดเชิงลบจากผู้อื่น โดยมีเรื่องราวและเนื้อหาที่สะท้อนถึงปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน BDMS จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมรับชมและแชร์ภาพยนตร์สั้น "ดอกไม้ในคมมีด" เพื่อร่วมรณรงค์ให้สังคมหยุดใช้คำพูดเพื่อทำร้ายกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ โดยการใช้คำพูดที่สร้างสรรค์ ให้กำลังใจกัน ส่งต่อให้คนที่เรารัก หรือคนที่เราอยากจะกล่าวคำขอโทษ พร้อมพิมพ์ #แชร์นี้ซอรี่ที่พูดไม่ดี แชร์ข้อความและความรู้สึกผ่านเพจเฟซบุ๊คมูลนิธิเวชดุสิตฯ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
BDMS ขอเป็นส่วนหนึ่งหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้คนไทยตระหนักและใช้คำพูดที่ดีต่อกัน โดยเชื่อว่าหากทุกคนในสังคมร่วมมือกัน หยุดการทำร้ายกันด้วยคำพูดหรือการกระทำ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้"
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ สนับสนุนให้คนไทยกล้าที่จะยอมรับและสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ผ่านการชมและแชร์ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ดอกไม้ในคมมีด" ได้ที่เฟซบุ๊คมูลนิธิเวชดุสิตฯ http://bit.ly/2PFbPNL