กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
จากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งเรื่องอาหารการกิน สภาวะแวดล้อม ความเครียด ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่คร่าชีวิตคนในรูปแบบภัยเงียบ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการ "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" ที่มีจุดเน้นสำคัญระดับชุมชน คือ การสร้างนวัตกรรมภูมิสารสนเทศในการนำเสนอข้อมูลชุมชนที่เป็นปัจจุบัน เพื่อให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ( พชอ.) และประชาชนในพื้นที่ได้เห็นความเชื่อมโยงของภูมิสังคมเชิงประจักษ์และข้อมูลวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และ จุดเน้นที่สำคัญอีกระดับคือผู้ป่วยและเครือข่ายกัลยาณมิตรที่สามารถดูแลตนเอง หยุด และ ลดยาได้แล้วมาบอกต่อให้แก่เพื่อนผู้ป่วย คนในชุมชน ในครอบครัว ให้เกิดกำลังใจและเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่มีการแสวงหาและการใช้ข้อมูล มาเรียนรู้ร่วมกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้ประสบความสำเร็จในการจัดการตัวเองให้มีสุขภพดีได้มากถึงร้อยละ 65 และมีจิตอาสาทำงานร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว โรงพยาบาลสูงเนิน ศูนย์วิจัยและพัฒนาสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล โรงเรียน โรงงาน และ กลุ่มต่าง ๆ ของอำเภอ ช่วยขับเคลื่อนสู่การเป็น "ต้นแบบการพัฒนาสุขภาวะอย่างยั่งยืน"
รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากตัวเลขผู้ป่วยของโรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา พบว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มาตรวจรักษามีจำนวนมากถึง 5,000 คน และผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีจำนวนกว่า 10,000 ราย ข้อมูลนี้ทำให้เราคิดว่าจะต้องจัดการกับปัญหาสุขภาพที่พบในชุมชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน จึงได้เริ่มโครงการ "สูงเนินสุขภาวะโมเดล" โดยใช้ศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขเข้ามาช่วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเน้นให้ผู้ป่วยลด / งด / หยุดการใช้ยา และหายป่วยได้ในที่สุด โครงการนี้ เป็นความร่วมมือ ระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับ โรงพยาบาลสูงเนิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่าง ๆ ในอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ทำคลินิกส่งเสริมจิตสังคมช่วยให้คนไข้มีสุขภาพดีขึ้น เน้นการมีกำลังใจ มีเพื่อน มีเป้าหมาย และมีข้อมูลไปใช้เพื่อปรับวิถีชีวิตตนเอง เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย ส่งเสริมคนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งจะเป็นพลังบวกที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ จนถึงระดับประเทศ ตามนโยบายการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทย โครงการนี้ใช้เวลาเพียง 7 เดือน ใช้งบประมาณเพียง 1 แสนบาท ในการดำเนินงาน
"ตัวอย่างการส่งเสริมสุขภาพโดยให้คนในชุมชนพึ่งพากันเอง คือ วิธีการที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ เสริมพลังผู้ป่วยและคนในชุมชน ให้ได้มีการนำข้อมูลสุขภาพที่เผชิญอยู่มาตัดสินใจว่าต้องการข้อมูลอะไรบ้าง คณะสาธารณสุขศาสตร์ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความชำนาญและทักษะการสื่อสารที่เข้าใจง่าย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำให้ผู้ป่วยตัดสินใจได้เหมาะสมกับวิถีและเป้าหมายของตนเอง เช่น ต้องการรู้ผลเลือดเพื่อใช้ตัดสินใจในการกินและออกกำลังกาย ผู้ป่วยเบาหวานจึงตัดสินใจฝึกฝนการเจาะเลือด และ แปลค่าผลเลือดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพตนเอง ที่ช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว สิ่งเหล่านี้เป็นการพิสูจน์ว่าวิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์ช่วยเติมเต็มด้านการรักษาของแพทย์ สนับสนุนนโยบายปฏิรูปเรื่องการพัฒนาความรอบรู้สุขภาพ ( Health Literacy) ของรัฐบาลซึ่งสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับมิติทางการแพทย์ และมิติทางสังคม เกิดนวัตกรรมสังคมที่ต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business) ได้ เช่น เรื่องเมนูอาหาร "ข้าวยำสูงเนิน" เป็นการคิดค้นของผู้ป่วยและครอบครัวของชาวสูงเนิน ซึ่งนักโภชนาการมีการทบทวนและยืนยันว่าเป็นเมนูเพื่อสุขภาพของประชาชนและของผู้ป่วยเบาหวานได้ ทำให้มีการวางจำหน่ายในตลาดของเทศบาลอำเภอสูงเนิน และจัดส่งให้เครือข่ายผู้ป่วย และผู้สนใจเป็นการสร้างรายได้ให้กลุ่ม ถือเป็นการเริ่มกิจกรรมเพื่อสังคม (Social Enterprise) นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
สำหรับในปี พ.ศ. 2562 นี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ 51st APACPH Conference : SDGs in Reality (Asia-Pacific Academic Consortium Public Health) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคีสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และความร่วมมือของสถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข 5 แห่ง ได้แก่ University of Hawaii, Mahidol University, University of Philippines, Peking Medical University, National University of Singapore โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปี วันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล และครบรอบ 72 ปี แห่งการสถาปนาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีทางการศึกษาด้านสาธารณสุข กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร
การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Healthy and Green Meeting ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการนำเสนอผลงานสถานการณ์ของ SDGs ในปัจจุบันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 28 ประเทศ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ภายในงานจะมีการปาฐถาพิเศษในพิธีเปิด เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสุขภาพ" โดย Dr. Stefanos Fotiou, ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จริยธรรมกับการสาธารณสุข นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร" โดย นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในพิธีปิด จะมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เส้นทางสุขภาพ เส้นทางสายไหมทางบก ( Health Road and Belt) โดย Prof. Wang Hui คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวตง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศจีน ที่สนใจมาพัฒนาศูนย์วิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพ ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจอีกจำนวนมาก รวมทั้ง ผลงาน "สูงเนินสุขภาวะโมเดล"ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผลงานหนึ่งที่จะนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ด้วย" รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง กล่าวเสริมท้าย