กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ
"น้ำ" เป็นสิ่งสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด รวมถึงมนุษยชาติ การละเลยไม่ให้ความสำคัญ "น้ำ" ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ ทรัพยากร "น้ำ" สำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ จากรายงานขององค์การสหประชาชาติพบว่า ภายในปี 2025 ประชากรกว่า 7 พันล้านคนจาก 60 ประเทศจะประสบภาวะการขาดแคลนน้ำรุนแรง ซึ่งพื้นที่ที่ประสบกับการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในขั้นวิกฤติจะมีอัตราการใช้น้ำสูงถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี และมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนน้ำรุนแรงมากยิ่งๆ ขึ้นจนถึง 1,700 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี โดยองค์การน้ำโลกคาดการณ์ว่าจะเกิดการแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นในปี 2050
จากข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เราจะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้หลักของคนส่วนใหญ่มาจากอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ "น้ำ" เป็นปัจจัยหลักในการผลิตและดำรงชีพ ประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม เคยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงแนะนำให้พสกนิกรทำการเกษตรแบบพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ ให้ลดการพึ่งพิงกระแสทุนนิยม เพื่อให้ลูกหลานไทยทั้งประเทศอยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรีโดยถ้วนทั่ว มิใช่แบบ "รวยกระจุก จนกระจาย"
หากไม่หลอกตนเอง ก็จะสามารถรับรู้ถึงสัญชาตญาณภายในได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทหรือโรงงานเลิกจ้าง ลูกหลานไทยค่อนประเทศจะต้องย้อนกลับไปทำ "อาชีพเกษตรกรรม" เพื่อตั้งหลักรอโอกาสใหม่ ๆ ในครั้งต่อไป เพราะสาขาอาชีพนี้ คือสิ่งที่คนไทยและบรรพบุรุษ มีความชำนาญที่สุด มีความถนัดมากกว่าการไปผลิตโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ อู่ซ่อมเครื่องบิน อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งไม่รู้ว่าจะอีกกี่ชาติจึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพแข่งข้นกับเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาได้
แต่ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญส่งเสริมให้ประชาชนหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลภาคการเกษตร ทำตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ช่วยก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านอาหาร เช่น การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารออร์แกนิคของโลก ส่งออกอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ให้ผู้คนชนทั่วโลกควรจะต้องมาดูงานมาศึกษา ว่าข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ทุเรียนอินทรีย์ ลำไยอินทรีย์ มะม่วงอินทรีย์ ฯลฯ เขามีวิธีการผลิตและแปรรูปอย่างไร จึงมีคุณภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้
ถ้ามีความชัดเจนว่าวิถีคนไทย คือ วิถีเกษตรกรรม ก็ควรหันมาทุ่มเทเรื่องการบริหารจัดการ "น้ำ" ทั้งประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน โดยอาจจะเริ่มต้นที่ภาคอีสานก่อนก็ได้ เนื่องด้วยมีจำนวนประชากรและพื้นที่การเกษตรมากที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูก และยังคงวนเวียนอยู่กับนิยามของคำที่นักข่าวแถลงบ่อย ๆ คือ "น้ำท่วม และฝนแล้ง ซ้ำซาก"
วิธีการผันน้ำโขงในช่วงหน้าฝน ซึ่งปริมาณน้ำในโขงจะสูงขึ้นจาก โขด หิน เกาะแก่งใต้ท้องน้ำ ตรงบริเวณจังหวัดเลย ช่วยทำให้การผันน้ำจากแม่น้ำโขง ไม่กระทบกับกฎหมายภาคีกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทำการขยายพื้นที่รับน้ำ สร้างอุโมงค์ผ่านช่องเขา สร้างคลองชลประทาน คลองไส้ไก่ผันน้ำตามแรงโน้มถ่วง ต่อไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ หล่อเลี้ยงลุ่มน้ำโขงอีสานบน อีกเส้นทางตรงไปยังพื้นที่อีสานตอนกลางคือ ลุ่มน้ำชี และต่อไปยังลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นอีสานตอนล่าง ซึ่งก็จะช่วยทำให้อีสานทั้งหมดมีน้ำไว้ใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้อย่างคุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
แต่ถ้าลงลึกในรายละเอียด ยังพบปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่มากมาย เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (ยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) พื้นที่ด้านล่างเป็นเกลือโพแทสเซียม ทำให้น้ำที่ไหลผ่านเค็มเกินไม่สามารถเพาะปลูกได้ (ซึ่งอาจจะทำเป็นแหล่งกักเก็บแบบเปิดให้สัมผัสอากาศ หรือทำระบบปิดไม่สัมผัสกับดินแร่โพแทสเซียมด้านล่าง) ซึ่งทุกปัญหามีทางออก แต่ถ้ารัฐบาลสร้างความเข้าใจ วางแผนระยะยาว ไม่หยุดนิ่ง โดยพุ่งเป้าไปยังอนาคตของประเทศไทยที่ว่า "เราเก่งด้านเกษตรกรรม" ลูกหลานไทยในอนาคตก็จะมีปัจจัยพื้นฐานคอยเกื้อหนุนให้ประกอบอาชีพได้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนขึ้นได้