กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สอวช. จับมือ 7 พีเอ็มยู เดินหน้าการทำงาน สนับสนุนทุนวิจัย ประเดิมโรดแมปแรกเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หนุนงานวิจัยบีซีจี สร้างเศรษฐกิจสามารถเติบโตไปควบคู่กับสิ่งแวดล้อมยั่งยืน หวังวางรากฐานแนวทางการจัดสรรงบและอุดหนุนทุนวิจัยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม "หารือหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม (พีเอ็มยู) เรื่องแผน/งาน โครงการสำคัญ เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ" เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงานออกแบบการสนับสนุนงบประมาณวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ สอดรับกับ "นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563 – 2570" อันประกอบไปด้วย 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พีเอ็มยู เป็นกลไกสำคัญในการบริหารงบประมาณด้านการวิจัย โดยหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรมที่ชื่อ "พีเอ็มยู" (PMU มาจากคำว่า Program Management Unit) จำนวน 7 พีเอ็มยู ประกอบด้วย 1. วช. (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) 2. NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) 3. สวก. (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน) 4. สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)
นอกจากนี้ยังมี 3 หน่วยบริหารและจัดการทุนน้องใหม่ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ดำเนินการภายใต้ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประกอบด้วย 5. พีเอ็มยู "A" มาจาก Area - based หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) 6. พีเอ็มยู "B" มาจาก Brain Power, manpower หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) 7. พีเอ็มยู "C" มาจาก Competitiveness หรือ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดย ทั้ง 7 หน่วยงานจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดการทุนวิจัย การติดตามและประเมินผลงานวิจัย โดย สกสว. จะช่วยหนุนเสริมการทำงาน โดยมี ดร.เทวินทร์ วงศ์วานิช กรรมการบริหารหน่วยบริหารทุนและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำหน้าดูแลภาพรวมการทำงานของทั้ง 7 พีเอ็มยู
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สกสว. เปิดเผยข้อมูลว่า ทุนวิจัยตามกรอบงบประมาณ ววน. ปีงบประมาณ 2564 แบ่งประเด็นและสัดส่วนงบประมาณ เป็น 3 ส่วน คือ
1. ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน แบ่งเป็น
1) Basic Research Fund & Institutional Capacity Building Fund ที่สนับสนุนทุนแก่โครงการงานวิจัยพื้นฐาน และสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและการบริหารงานวิจัยของสถาบันความรู้และสถาบันวิจัยในหน่วยงาน สัดส่วน 15 % 2) Basic Function Fund เป็นการจัดสรรงบประมาณตรงไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะด้าน ววน. และดำเนินการตามพันธกิจของตนเอง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. ระดับชาติ และโครงการริเริ่มสำคัญของประเทศ สัดส่วน 35 %
2. ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ เป็นลักษณะ Competitive Funding ที่สนับสนุนทุนแก่หน่วยงานระดับปฏิบัติโดยต้องเป็นการทำวิจัยที่เน้นตอบยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน. ของประเทศ สัดส่วน 50 %
ทั้งนี้ข้อสรุปการประชุมวันนี้มุ่งเน้นถึงการโปรแกรมการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ประเด็นอาทิ บีซีจี การพัฒนาเศรษฐกิจที่คู่ขนาดไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โปรแกรมเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ เพื่อวางรากฐานแนวทางการจัดสรรงบและอุดหนุนทุนวิจัยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยมีแต่ละพีเอ็มยูแบ่งขอบเขตหน้าที่การทำงาน โปรแกรมการวิจัยที่สนับสนุนทุนวิจัยอย่างชัดเจน