กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ส่งเสริมมาตรฐานแรงงานไทย ติดเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงาน พร้อมมอบหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การันตีคุณภาพแรงงานในสถานฟประกอบกิจการกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงาน ตามแนวคิด Workforce Transformation ในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทย ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผลักดันให้ทุกภาคส่วน ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานไทยพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองให้ได้มาตรฐาน และทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กพร.ได้จัดทำเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสินค้าและบริการของผู้ประกอบกิจการ พร้อมทั้ง
เป็นการส่งเสริมให้สถานประกอบการตระหนักถึงความสำคัญในการแสวงหาแรงงานฝีมือที่ได้มาตรฐานอยู่ในสายการผลิตและบริการ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการสามารถนำไปติดไว้ในสำนักงาน หรือแสดงไว้ในที่ที่สังเกตเห็นได้ง่าย
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มอบเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับสถานประกอบกิจการ รวมทั้งสิ้น 96 แห่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองว่ามีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเข้าทำงานในสายการผลิตและบริการ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีสิทธิได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น จะต้องเป็นสถานประกอบการที่มีบุคลากรหรือพนักงานในสายการผลิตหรือบริการผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด โดยสถานประกอบกิจการจะต้องจดทะเบียนผู้ประกอบการค้าหรือกิจการตามกฎหมาย สถานที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงใช้เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำงานอย่างเหมาะสมมีวิธีและขั้นตอนการทำงานถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นผู้เข้าประเมินคุณสมบัติดังกล่าวก่อนจะมอบเครื่องหมายดังกล่าวให้กับสถานประกอบกิจการ
ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา โดยบริษัทฯ ได้จัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเชื่อมแม็ก ระดับ 1 และผ่านการทดสอบฯ จำนวน 11 คน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตรถโดยสาร มีพนักงานทั้งหมด 332 คน และมีพนักงานเกี่ยวกับงานเชื่อมจำนวน 34 คน ด้วยลักษณะของธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานด้านงานเชื่อม เพื่อปฏิบัติงานในการเชื่อมโครงรถ ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นเหล็ก เมื่อได้รับเครื่องหมายมาตรฐานมาติดที่สำนักงาน ก็เชื่อมั่นว่าลูกค้าที่ต้องการจัดซื้อรถโดยสารจากบริษัท มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่พนักงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และมีส่วนผลักดันให้พนักงานอีกส่วนหนึ่ง เร่งพัฒนาฝีมือตนเองให้สูงซึ่งช่วยลดการสูญเสีย เพิ่มผลิตภาพแรงงานขึ้นด้วย
"เครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงาน" จะเป็นสัญลักษณ์การันตีว่าสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ
ได้มาตรฐานมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดี กพร.กล่าว