กรุงเทพฯ--29 ก.พ.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
ปูนอินทรีชูแนวคิด “สร้างฝายลดโลกร้อน” เน้นแก้ปัญหาแบบยั่งยืน คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ เดินหน้าโครงการ ๘๐ พรรษา ๘๘๐ ฝาย อินทรีสร้างถวายในหลวง ปีที่ ๒ หวังสร้างกระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อม สานแนวพระราชดำริต่อเนื่อง
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “ปูนอินทรี” ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา สานต่อโครงการ “๘๐ พรรษา ๘๘๐ ฝาย อินทรีสร้างถวายในหลวง” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๒ ภายใต้แนวคิด Global Warming — สร้างฝายลดโลกร้อน คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ หวังกระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัวกับภาวะโลกร้อนและหันมามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง พร้อมประกาศพื้นที่เร่งด่วนสร้างฝายเพิ่มความชุ่มชื้นตลอดปี ๒๕๕๑
จันทนา สุขุมานนท์ รองประธานบริหาร (ลูกค้าสัมพันธ์) บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ ๘๐ พรรษา ๘๘๐ ฝาย อินทรีสร้างถวายในหลวง กล่าวว่า “หลังจากที่ปูนอินทรีได้เปิดตัวและดำเนินโครงการ ๘๐ พรรษา ๘๘๐ ฝาย อินทรีสร้างถวายในหลวง มาตลอดระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าโครงการประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงาน ผู้บริหาร คู่ค้า สื่อมวลชน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเราสามารถสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น อันเป็นการน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายแด่พระองค์ท่านในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา”
“จากปีที่ผ่านมาพบว่าทั่วโลกได้ตื่นตัวกับปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming กันอย่างมาก ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการเสียสมดุลทางธรรมชาติทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติในหลายประเทศ สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก เราจึงหยิบยกปัญหาโลกร้อนขึ้นมาเป็นแนวคิดสำคัญของการดำเนินโครงการในปีที่ ๒ นี้ ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญที่ต้องการมุ่งรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศตื่นตัวกับปัญหาและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งความสำคัญของการสร้างฝายดักตะกอนและเก็บกักความชุ่มชื้นในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อช่วยฟื้นฟูและบำรุงรักษาทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสมดุลธรรมชาติและบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้” คุณจันทนา กล่าวเสริม
โครงการ ๘๐ พรรษา ๘๘๐ ฝาย อินทรีสร้างถวายในหลวง ในปีแรกของการดำเนินโครงการสามารถสร้างฝายได้จำนวน ๑,๐๕๕ ฝาย โดยครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และลำพูนซึ่งแบ่งเป็นฝายแบบท้องถิ่นเบื้องต้นจำนวน ๙๗๒ ฝาย และฝายคอนกรีตจำนวน ๘๓ ฝาย เกินกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ถึง ๒๐%
ในปี ๒๕๕๑ นี้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวงจะดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำรวมอีก ๘๘๐ แห่ง โดยมีแผนงานที่จะสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณ อ.สันกำแพง อ.พร้าว และ อ.ฝาง จำนวน ๔๓๐ ฝาย จังหวัดน่าน อ.ปัว จำนวน ๑๐๐ ฝาย จังหวัดลำพูน อ.แม่ทา จำนวน ๑๐๐ ฝาย จังหวัดเพชรบูรณ์ อ.เขาค้อ จำนวน ๑๒๐ ฝาย และจังหวัดสระบุรี อ.แก่งคอย อีกจำนวน ๑๓๐ ฝาย ซึ่งจะยังคงเชิญชวนให้ประชาชนในท้องถิ่น นักศึกษา พนักงานและผู้บริหารบริษัทฯ รวมถึงสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างฝาย และเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่จะจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ฝายที่ได้มีการสร้างขึ้นแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ฝายที่สร้างจากวัสดุธรรมชาติ ฝายหิน และฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยการเลือกแบบจะพิจารณาตามสภาพภูมิประเทศ วัสดุที่เหมาะสม และประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ
“ทางโครงการจะมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยกันแก้ไข และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ นักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน รวมทั้งผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ นอกจากนี้ จะมีการสัมมนาและศึกษาวิจัยผลการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อประมวลให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการค้นคว้าและพัฒนาต่อยอดต่อไป” นางสาวจันทนากล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
คุณนาฎฤดี กระถินเทศ
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
โทร. 0-2797-7000, 089-819-3737
คุณรัชฎา ปสันตา /คุณพิมพ์ไพลิน ธีระลีลา
ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์
โทร. 0-2610-2362, 0-2610-2372