กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ
"สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ พัฒนาฝีมือกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตรการสร้างแพทเทิร์นเสื้อโค้ทและกระเป๋า สร้างผลงานระดับมาสเตอร์ต่อยอดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม"
น.ส.อาภากร ว่องเขตกร ผอ.สถาบันฯนานาชาติ กล่าวให้ข้อมูลว่า หลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นนักดีไซน์เนอร์ด้านออกแบบเสื้อผ้า ในระดับธุรกิจพื้นฐาน SME และ OTOP ต่อยอดความรู้ให้กับผู้เข้าอบรมให้มีความหลากหลายในการดีไซน์ผลงาน โดยมี อ.พิมพา นักดีไซน์เนอร์มากประสบการณ์ นักดีไซน์เนอร์แบรนด์ Rochelle และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Pimpa Paris สาวไทยคนเดียวที่จบหลักสูตรการตัดเย็บชั้นสูง โอต์ กูตู จากสถาบันออกแบบ Chambre Syndicale de la Couture Parisienne (ณอมสันดีกานเดอ ลา คูทจูว ปารีสเสียน) ประเทศฝรั่งเศส ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานกับแบรนด์ระดับโลกมากว่า 10 ปี มาเป็นผู้สอนตลอดทั้งหลักสูตร
น.ส.กันย์ญเนศ พรมะธานชัย ผู้เข้าฝึกอบรมจากจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ตนเองประกอบอาชีพเป็นนักดีไซน์เนอร์สินค้า OTOP มีผลงานระดับมาสเตอร์หลายชิ้น โดยได้นำผ้าพื้นเมืองของจังหวัดแพร่(หม้อฮ่อม) มาดีไซน์ประยุกต์เป็นสินค้าสไตล์ของตนเอง ทราบข่าวการรับสมัครฝึกอบรมของสถาบันฯ และเห็นว่าหลักสูตรที่เปิดตรงกับสายงานที่ตนเองประกอบอาชีพ น่าจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดความรู้ของตน จึงได้ชวนเพื่อนที่เป็นนักดีไซเนอร์อีกคนสมัครเข้าฝึกอบรม ซึ่งตนเองได้รับความรู้และเทคนิคใหม่ๆจาก อ.พิมพา เยอะมากๆ และระหว่างการฝึกยังได้รับความรู้ด้าน SME จากศูนย์บริการ SME ครบวงจร(OSS) จังหวัดเชียงราย ที่มาแนะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจอีกด้วย สร้างความประทับใจเป็นอย่างมากในการมาฝึกอบรมครั้งแรก และหากสถาบันฯเปิดหลักสูตรที่เป็นประโยชน์แบบนี้อีก ตนและเพื่อนจะเดินทางมาฝึกฝีมือที่สถาบันฯแห่งนี้อีกแน่นอน
ด้าน น.ส.อลิสา ณ นคร ผจก.ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร(OSS) จ.เชียงราย สนง.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ได้เข้าเยี่ยมชมการฝึกอบรมของสถาบันฯ กล่าวว่า หลักสูตรการสร้างแพทเทิร์นเสื้อโค้ทและกระเป๋า ของสถาบันฯนานาชาติ เป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์มาก นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะและต่อยอดฝีมือด้านการออกแบบแล้วยังสอดคล้องกับภารกิจของ สสว.ในการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการ SME และ OTOP ให้สามารถประกอบธุรกิจพึ่งพาตนเองได้ และหลังจากนี้จะได้เชิญผู้จบการฝึกอบรมนำผลงานระดับมาสเตอร์ของแต่ละคนนำไปจัดแสดง ในงานจัดแสดงสินค้าที่ทาง สสว.จัดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาส โปรโมทสินค้า และทดสอบตลาดต่อไป