กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--กรมที่ดิน
(๑๔ พ.ย.๖๒) ที่อาคารรังวัด กรมที่ดิน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปเป็นประธานในพิธีส่งตัวเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน จำนวน ๕๑๗ คน เพื่อออกไปปฏิบัติงานตามโครงการเดินสำรวจสอบเขตที่ดินด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม RTK GNSS Network ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อดำเนินการ เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและสอบเขตที่ดิน ตามมาตรา ๕๘ , ๕๘ ทวิ และมาตรา ๖๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในพื้นที่ ๒๘ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ , ลำพูน , เชียงราย , ลำปาง , แพร่ , น่าน , พิษณุโลก , กำแพงเพชร , สุโขทัย , ตาก , อุดรธานี , หนองบัวลำภู , หนองคาย , บึงกาฬ , ชัยภูมิ , ขอนแก่น , อุบลราชธานี , นครราชสีมา , นครพนม , มุกดาหาร ,กระบี่ , พังงา , ตรัง , สงขลา , นครศรีธรรมราช , ปัตตานี , ยะลา และนราธิวาสมีเป้าหมาย จำนวน ๘๕,๐๐๐ แปลง เพื่อยกมาตรฐานการรังวัดให้สูงขึ้น
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กรมที่ดินได้มีโครงการพัฒนามาตรฐานรูปแปลงที่ดินโดยจัดให้มีโครงการเดินสำรวจสอบเขตที่ดินด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม RTK GNSS Network เพื่อยกมาตรฐานการรังวัดที่สูงขึ้น และได้นำเทคโนโลยีการรังวัดสมัยใหม่มาใช้ในการรังวัดทำแผนที่ เพื่อให้รูปแปลงที่ดินมีค่าพิกัดภูมิศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำสูง สามารถตรวจสอบตำแหน่งของหลักเขตหรือ แนวเขตที่ดินในกรณีสูญหายถูกทำลายหรือถูกเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วมีความละเอียดถูกต้องตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อแก้ปัญหาความทับซ้อนของที่ดินและที่ดินที่ได้มีการรังวัดไว้นานแล้ว
นายนิพนธ์ ฯ กล่าวต่อไปว่า การรังวัดด้วยระบบ RTK GNSS Network ถือเป็นการให้บริการสาธารณะในเชิงรุกของกรมที่ดิน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสำรวจและทำแผนที่สามารถเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ เช่น การคมนาคมขนส่ง การสำรวจเพื่อการก่อสร้างการเกษตรอัจฉริยะการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติการโยธาธิการและผังเมืองการตรวจวัดสภาพอากาศ เพื่อส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยที่ดินถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำเนินงานประกอบการ ทุก ๆ อย่าง นอกจากนี้การทราบแนวเขตที่ดินที่เจ้าของที่ดินครอบครองชัดเจนจะเป็นการลดปัญหากรณีข้อพิพาทต่าง ๆ อันเกิดจากเรื่องที่ดินซึ่งจะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเรื่องการดูแลการจัดการกรรมสิทธิ์ในที่ดินและให้สิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคมในการยกระดับมาตรฐานการรังวัดสู่สากลเพื่อยุติขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดิน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่ดินของประชาชนสู่สังคมอุดมสุขและมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน มั่นคง ยั่งยืน สถาพร ต่อไปรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในที่สุด
ด้านนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ที่ผ่านมา กรมที่ดินมีเป้าหมายในการดำเนินงาน ๘๐,๐๐๐ แปลง ดำเนินการได้ ๘๐,๓๒๕ แปลง ในพื้นที่ ๒๑ จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ , ลำพูน , เชียงราย, ลำปาง , แพร่ , น่าน , พิษณุโลก , กำแพงเพชร , อุดรธานี , หนองคาย , ชัยภูมิ , ขอนแก่น , อุบลราชธานี , นครราชสีมา , กระบี่ , พังงา , สงขลา , ปัตตานี , ยะลา ,นราธิวาส และฉะเชิงเทรา
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้ประกาศกำหนดพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมในท้องที่จังหวัด สุโขทัย , ตาก , หนองบัวลำภู , บึงกาฬ , นครพนม , มุกดาหาร, ตรัง และนครศรีธรรมราช การรังวัดสอบเขตที่ดินด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม ด้วยระบบ RTK GNSS NETWORK ถือเป็นนวัตกรรมด้านการสำรวจและทำแผนที่
ที่ให้ค่าพิกัดของรูปแปลงที่ดินอย่างถูกต้องแม่นยำด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยลดขั้นตอนการทำงานสามารถรังวัดและค้นหาตำแหน่งหลักเขตที่ดินได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยมีหลักการทำงาน คือ ช่างรังวัดหรือผู้ใช้งานของระบบโครงข่ายจะทำการรับสัญญาณดาวเทียม ณ ตำแหน่งที่ต้องการหาค่าพิกัด จากนั้นทำการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุม เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลดาวเทียมให้กับผู้ใช้งานจึงได้ค่าพิกัดของตำแหน่งที่รังวัดอย่างถูกต้องแม่นยำและสะดวกรวดเร็ว ทำให้ข้อมูลรูปแปลงที่ดินมีความละเอียดถูกต้องทั้งรูปร่างเนื้อที่และค่าพิกัดทางภูมิศาสตร์จึงสามารถแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของหน่วยงานต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นในการถือครองเอกสารสิทธิ์ลดข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและลดภาระของประชาชนในการระวังชี้แนวเขตที่ดิน ก่อให้เกิดการบูรณาการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการสำรวจรังวัดที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
"นวัตกรรมที่กรมที่ดินนำมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและความมั่นคงรวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Ease of doing Bussiness" ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทยอธิบดีกรมที่ดิน กล่าวในที่สุด