กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--ไออาร์ พลัส
TKS ประเมินแนวโน้มผลงานโค้งสุดท้ายของปี 2562 เติบโตต่อเนื่อง สนับสนุนรายได้ทั้งปีโตตามเป้าหมายร้อยละ 14 พร้อมทั้งปรับกลยุทธ์รุกตลาด E-Service เน้นบริหารต้นทุนดันมาร์จิ้นเพิ่ม ประกาศผลงาน 9 เดือน กวาดรายได้ 1,870.7 ลบ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 กำไรสุทธิ 347.4 ลบ. ขณะที่งบไตรมาส 3/62 มีรายได้ 624.4 ลบ. กำไรสุทธิ 51.8 ลบ.
นายสมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เค.เอส.เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ TKS ผู้ประกอบการธุรกิจ Security Printing ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทในช่วงที่เหลือของปี 2562 ประเมินว่าจะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้งานพิมพ์จากทางภาครัฐหลายโครงการถูกเลื่อนกำหนดไปเป็นปี 2563 แทน แต่เชื่อว่าจากการขยายตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯยังมีออเดอร์จากลูกค้าทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค.-30 ก.ย.2562) บริษัทฯมีรายได้รวม 1,870.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,499 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 347.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.2 เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 458 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากงวดเดียวกันของปีก่อนบริษัทฯมีกำไรของรายการที่เกิดครั้งเดียว ซึ่งหากไม่รวมกำไรพิเศษและกำไรสุทธิของ TBSP บริษัทมีกำไรสุทธิรวมจำนวน 231.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในอัตราร้อยละ 12.9 เป็นผลมาจากรายได้ส่วนแบ่งกำไรในบริษัทร่วมลดลง ในขณะที่กำไรเฉพาะส่วน TKS เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 21.4 เป็นผลจากรายได้และกำไรขั้นต้นในส่วนของแบบพิมพ์ธุรกิจพิเศษ (High-Valued Document) เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ผลประกอบการประจำงวดไตรมาสที่ 3/2562 (สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562) บริษัทฯมีรายได้รวม 624.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 603 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 51.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของ TKS มีบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% คือ บริษัท สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด นอกจากนี้ TKS ยังถือหุ้นในบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX 38.5% และ บริษัท ทีบีเอสพี จำกัด (มหาชน) หรือ TBSP ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ราว 97% ซึ่งใน TBSP ยังมีบริษัทลูกอีกหนึ่งบริษัทที่ไปลงทุนในเมียนมา และ มีบริษัท โกไฟว์ ที่ตั้งขึ้นในปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลบริการด้านอี-โซลูชั่น ปัจจุบันมุ่งเน้นรองรับการทำ อี-อินวอยย์และอีโซลูชั่นเซอร์วิส โดยเฉพาะ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่จะก้าวไปสู่ยุคดิจิตอล
"การที่มี TBSP เข้ามาทำให้สามารถรับงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างเช่น งานพิมพ์สมาร์ทลาเบลที่ทำให้กับลูกค้าต่างประเทศที่บวกเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้าไปด้วย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังรับงานพิมพ์แสตมป์ต่างๆ อย่างเช่น แสตมป์ของการไปรษณีย์ หรือไฮเปอร์มาร์ท ปัจจุบันลูกค้าไฮเปอร์มาร์ทชั้นนำที่มีการพิมพ์แสตมป์นั้น เป็นลูกค้าของ TKS ถึง 3 รายด้วยกัน และขณะนี้ TKS ถือเป็นรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งงานแสตมป์ภาคเอกชนสูงสุด ส่วน TBSP เป็นรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งงานแสตมป์ภาครัฐที่สูงที่สุดเช่นกัน" นายสมคิด กล่าว
นอกจากธุรกิจสิ่งพิมพ์ต่างๆ TKS ยังมีงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และธุรกิจแวร์เฮ้าส์ แมเนจเมนท์ ที่ให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีงานสิ่งพิมพ์จำนวนมากที่ต้องจัดส่งให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง โดยจะดูแลตั้งแต่การจัดพิมพ์ การจัดเก็บ การแพ็คส่งลูกค้า เป็นต้น ซึ่งตอนนี้มีลูกค้ารายใหญ่อยู่ทั้งในธุรกิจธนาคาร ประกันภัย และรีเทล สโตร์ โดยธุรกิจแวร์เฮ้าส์ แมเนจเมนท์ บริษัทมองว่าจะสามารถเข้าไปให้บริการแก่ลูกค้าที่กลุ่มบริษัทในเครือให้บริการอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของ TKS TBSP หรือ SYNEX ที่มีสินค้าในมืออยู่กว่า 60 แบรนด์ ที่ต้องใช้แวร์เฮ้าส์อยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทฯ จึงมองแผนในการขยายธุรกิจนี้เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการพัฒนาการให้บริการงานพิมพ์ข้อสอบแบบครบวงจรเช่นกัน ซึ่งในแต่ละปีงานดังกล่าวมีมูลค่าสูงหลักพันล้านบาท บริษัทฯจึงวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนงานพิมพ์ข้อสอบให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 10% และต้องมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย TKS มีความพร้อมสูงและมีศักยภาพเหนือคู่แข่ง และมีการให้บริการครบวงจร ดูแลตั้งแต่การรับสมัครสอบ การทำเว็บไซต์รองรับ การชำระเงิน การจัดเก็บข้อมูล ประมวลผลสอบ แจ้งผลสอบ จนจบครบทุกขั้นตอน