กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--นักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
"ประภัตร" เดินเครื่องผลักดันสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q หวังเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร นำร่อง "เมล่อน ประสิทธิฟาร์ม" เมืองสุพรรณฯ ตั้งเป้าผัก-ผลไม้ส่งออก ต้องมีตัว Q พร้อมกระตุ้นผู้บริโภคหันมาใช้สินค้า Q
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันให้มีการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยส่งเสริมการผลิตตั้งแต่ฟาร์มให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) โดยมีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และจำกัดตามหลักวิชาการ และมีการให้สัญลักษณ์ Q เพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายที่จะผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวสาร ผัก และผลไม้
นายประภัตร กล่าวว่า มกอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยคัดเลือกเมล่อน ประสิทธิฟาร์ม ต.ดอนคา อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง ในการผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q โดยสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q สนับสนุนสินค้าที่ได้มาตรฐานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งมาตรฐานและข้อมูลของเกษตรกร พร้อมหาตลาดรองรับให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลอดออนไลน์ www.dgtfram.com ร้าน Q4U (ร้านใน มกอช.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) และห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม นอกจากเกษตรกรจะมีช่องทางการจำหน่าย มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เกษตรกรยังมีสินค้าที่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภคเข้าถึงสถานที่จำหน่ายและแหล่งผลิตสินค้า Q อีกด้วย
"เป้าหมายต่อไปผลักดันและส่งเสริมสินค้าที่ได้รับการรับรอง GAP ให้ใช้และแสดงเครื่องหมาย Q ในผัก และผลไม้ เพราะมีการบริโภคทุกวัน โดยเฉพาะผักคะน้า ที่มองกันว่ามีสารคกค้างมากที่สุด ซึ่งจากนี้ไปสินค้าทางการเกษตรที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ต้องมีตัว Q ทำให้ผู้ซื้อสบายใจ และเกษตรกรได้รักษาคุณภาพ เพิ่มช่องทางการตลาด และยกระดับราคาสินค้าสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับผู้บริโภคเห็นว่า การมีสัญลักษณ์ Q กับไม่มี Q แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนหันมาใช้สินค้าที่มีตัว Q"รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย Q เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม ซึ่งต้องปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐาน GAP รวมทั้งโรงคัดบรรจุผักผลไม้ โรงฆ่าสัตว์ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ การผลิตต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติในการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices : GMPโดยปัจจุบัน มีเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 297,874 ใบ (190,815 ราย) แบ่งเป็น พืช 144,762 ใบ (127,867 ราย) ปศุสัตว์ 18,309 ใบ (18,307 ราย) ประมง 221 ใบ (221 ราย) และข้าว 134,582 ใบ (44,420 ราย)
"ที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดสดต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มีเครื่องหมาย Q โดยเปิดให้มีมุมจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าที่มีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้น และผู้บริโภคสามารถเลือกหาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีมาตรฐาน ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย Q จะต้องรักษาคุณภาพ ความปลอดภัย และได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหน่วยงานที่ให้การรับรองจะทำการติดตามตรวจสอบเป็นระยะ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือไม่รักษาคุณภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐาน จะถูกยกเลิกการใช้เครื่องหมาย Q ฉะนั้น สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกหาสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องเลือกสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q เท่านั้น"เลขาธิการ มกอช. กล่าว