กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานคร เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นประชาชนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ หวังรัฐบาลปรับมติครม. เพื่อดำเนินการเส้นทางที่ติดขัด ส่วนเส้นทางอื่นรอรัฐบาลเห็นชอบ กทม.พร้อมลงมือทันที เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน ช่วยชาติประหยัดในช่วงวิกฤตพลังงาน ส่งเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจชาติ รวมทั้งลดการสูญเสียเวลาของประชาชน
เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม 2548 เวลา 10.30 น.) ณ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รถไฟฟ้ากทม. เพื่อการแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน” ในการสัมมนา โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายโดยรวม สายพระปิ่นเกล้า ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก โดยมีนายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งเป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การสัมมนา
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ากทม. ส่วนต่อขยายสายปิ่นเกล้า จากสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงพรานนก เป็นโครงการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยเริ่มลดระดับไปตามถนนพระรามที่ 1 จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ลงสู่ระดับอุโมงค์ใต้ดิน บริเวณถนนบำรุงเมือง ลอดผ่านถนนราชดำเนิน แม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่แยกไฟฉาย (พรานนก) ซึ่งมีสถานีทั้งหมด 5 สถานี รวมระยะทาง 7.7 กิโลเมตร สำหรับการสัมมนาโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนี้เป็นการสัมมนาครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้สัมมนาส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงตากสินถึงเพชรเกษม ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทช่วงสำโรงถึงสมุทรปราการ และส่วนต่อขยายสายพหลโยธินช่วงหมอชิตถึงสะพานใหม่ไปแล้ว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีแผนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้งสิ้น 4 เส้นทาง ได้แก่ สายตากสิน จากสะพานตากสินถึงแยกตากสิน สายตากสิน-เพชรเกษม(บางหว้า) สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-สำโรง สายพหลโยธิน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ สายสะพานใหม่-ลำลูกกา และสายพระปิ่นเกล้า จากสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก สำหรับเส้นทางที่มีปัญหาติดขัดเนื่องจากมติครม. เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 43 ซึ่งกำหนดให้การก่อสร้างส่วนต่อขยายต้องเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด ได้แก่ สายตากสิน จากสะพานตากสินถึงแยกตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร และสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุชถึงสำโรง ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร รวม 11.1 กิโลเมตร ซึ่งกทม. ได้มีหนังสือหารือไปยังกระทรวงมหาดไทยหลายครั้งแล้ว เพื่อขอให้กระทรวงมหาดไทยเสนอครม.ปรับมติดังกล่าว ให้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกทม.และเอกชน โดยกทม.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วางรางและสถานี และให้เอกชนดำเนินการเดินรถ โดยสายตากสินนั้นกทม.ได้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว รอเพียงวางราง ก่อสร้างสถานี และเดินรถเท่านั้น หากครม.ปรับมติที่เป็นปัญหานั้นแล้ว รถไฟฟ้าจากสะพาน ตากสิน-แยกตากสินจะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ภายใน 1 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนฝั่งธนบุรีจะได้รับประโยชน์อย่างมาก และจะสามารถลดปัญหาจราจรบริเวณสะพานตากสินและส่วนต่อเนื่องจากซึ่งปัจจุบันมีปัญหาจราจรสูงได้เป็นอย่างมาก กทม.จึงต้องการผลักดันเส้นทางนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว ส่วนเส้นทางส่วนต่อขยายสายอื่นกทม.ก็ได้เร่งดำเนินการในส่วนที่สามารถเดินหน้าไปได้ตามลำดับ
สำหรับเส้นตากสิน ช่วงแยกตากสินถึงเพชรเกษม สำนักงบประมาณ ของรัฐบาล จัดสรรงบประมาณ สำหรับปี 49 จำนวน 150 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยาย สำหรับเส้นทางพหลโยธิน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ เป็นเส้นทางที่ต้องการผลักดันให้เกิดโดยเร็ว โดยในขณะนี้สำนักงบประมาณของรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 49 จำนวน 563 ล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับ การวางรางและก่อสร้างสถานี ซึ่งใน 2 เส้นทางนี้รัฐบาลให้การอุดหนุนงบประมาณ 40% แต่กทม.จะขอเพิ่มเป็น 50 % ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณของกทม.เอง เพราะบริการรถไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งชาวปริมณฑลและต่างจังหวัดด้วย
ดร.สามารถ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งของแผนการระยะยาว ที่จะลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำมันอย่างเช่นปัจจุบัน และเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยการมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครดำเนินการ เพราะผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยส่วนรวม เป็นการลดการใช้พลังงาน ลดการสูญเสียเวลา และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ--จบ--