กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
- จับตารอจังหวะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ และตลาดหุ้น Asia Emerging Market
- หุ้นไทยแนะลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม และทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร
SCB Wealth Holistic Experts ทีมคลังสมองด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2020 ในยุค New Normal ยังคงเติบโตได้แม้อัตราการเติบโตต่ำ แต่ยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนของเศรษฐกิจถดถอย และผลจากการใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มผ่อนคลาย จะส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับตลาดการเงิน ดังนั้นควรหาจังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเลือกลงทุนในตลาดหุ้น หรืออุตสาหกรรมที่ราคาปรับลดลงมามากจนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หลีกเลี่ยงลงทุนในตราสารหนี้เอกชน High Yield และเน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชน Investment Grade สำหรับสินทรัพย์ทางเลือก แนะนำ ตลาดน้ำมัน Private Equity และรอตลาด REITs ปรับฐานแล้วค่อยเข้าลงทุน หลีกเลี่ยงการลงทุนในทองคำ ด้านเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าการลงทุนของรัฐบาลและเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้จะยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงด้านการส่งออก ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น และทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี นอกจากนี้ด้านกฎหมายที่น่าจับตามองและต้องเตรียมพร้อมรับมือ คือ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (SCB Chief Investment Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก พร้อมกลยุทธ์การลงทุนปี 2020 ในยุค New Normal ดังนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลก ยังอยู่ในช่วง Late Cycle โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าหลักๆ ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง โดยการที่เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนานมากขึ้น และดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ถือเป็น New Normal ขณะที่ เรายังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเกิด Recession ใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารกลางต่างๆ ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย และยังมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อในปีหน้า ทำให้ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกมีน้อยลงเช่นกัน เพราะมีข้อจำกัดในการส่งผ่านนโยบายการเงิน เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ภาคการเงินก็ระมัดระวังการให้สินเชื่อ และธนาคารกลางหลายแห่งยังต้องการเก็บกระสุนที่มีจำกัดไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต นอกจากนี้ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มใช้นโยบายการคลังควบคู่กับนโยบายการเงิน ซึ่งนโยบายการคลังก็มีข้อจำกัดจากการมีหนี้สาธารณะซึ่งอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ มองว่าผลจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เริ่มผ่อนคลายลง โดยประธานาธิบดี ทรัมป์ น่าจะมีท่าทีที่อ่อนลงในประเด็นสงครามการค้าในช่วงปีหน้า ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งสัญญาณเชิงบวกให้กับตลาดการเงิน
ซึ่งทาง SCB-CIO Office มีมุมมองว่า แม้เศรษฐกิจภาพใหญ่ยังดูไม่สดใส แต่สินทรัพย์เสี่ยงได้ตอบรับปัจจัยนี้เข้าไปแล้ว ดังนั้น หากเริ่มจับสัญญาณการกลับตัวที่จะบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่สำคัญ ซึ่งหาก PMI เริ่มปรับเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าคงคลังลดลง และกำไรของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีเสถียรภาพหรือไม่ปรับลดลง ถือเป็นสัญญาณ Bottom Out ที่ควรจะเริ่มเข้าลงทุนใน early stage นี้
โดยกลยุทธ์การลงทุนในปี 2020 คือ หาจังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น โดยเลือกลงทุนในตลาดหุ้น หรือในอุตสาหกรรมที่ราคาปรับลดลงมามาก จนต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือ Laggard ขณะที่หลีกเลี่ยงลงทุนในตราสารหนี้เอกชน High Yield และเน้นลงทุนในตราสารหนี้เอกชน Investment Grade
สำหรับตลาดหุ้นที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ ซึ่ง Valuation อยู่ในระดับต่ำ Earning มีแนวโน้มที่ดี โดยควรรอเข้าลงทุน หลังมีความชัดเจนของนโยบาย Health care, ตลาดหุ้น Asia Emerging Market จากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น เช่น ตลาดหุ้นจีน ซึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ ตลาดหุ้นฮ่องกง ในกลุ่มหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เช่น property และ infrastructure บางตัว
สำหรับสินทรัพย์ทางเลือก แนะนำให้เข้าลงทุนใน REITs ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Yield ของ REITs ในไทยและต่างประเทศเริ่มปรับสูงขึ้น จากการที่ถูกเทขาย หลังนักลงทุนคลายความกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และคาดการณ์ว่า ดอกเบี้ยจะไม่ลดลงอีกแล้วในปีนี้ เราจึงแนะนำให้ รอและทยอยเข้าลงทุน เมื่อ Yield เพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 5.4-6.0% ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ แนะนำลงทุนใน ตลาดน้ำมัน และหลีกเลี่ยงลงทุนใน ตลาดทองคำ
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า สายงานวิจัย SCBS มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยสำหรับปี 2563 แม้ยังคงมีความเสี่ยงด้าน มหภาค เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แต่คาดว่าเศรฐกิจโลกยังคงเติบโตได้แม้อัตราการเติบโตต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงประเทศเกิดใหม่ ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น QE ไว้รองรับความเสี่ยงแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 สำหรับเศรษฐกิจไทย คาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. 2 ครั้ง การออกมาตรการกระตุ้นเศษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้านการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ต้นปี 2563 จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ให้เติบโตได้ แม้จะยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านการส่งออก ทั้งนี้ คาดว่า การลงทุนของรัฐบาลและเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563
ทางด้าน ตลาดหุ้นไทย ประเมินว่า ความเสี่ยงจำกัดเนื่องจากคาดว่าการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิในปี 2562 สิ้นสุดแล้ว ในขณะที่กำไรสุทธิมีโอกาสฟื้นตัวในปี 2563 ประมาณ 8-10% YoY นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งยังคงล้าหลังตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่แล้วหลายตลาดฯ ทำให้ผลตอบแทนเริ่มจำกัด ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ มีความน่าสนใจมากขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสหรัฐฯ กับจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ในเบื้องต้น (ตลาดหุ้นไทยเองก็ยังคงล้าหลังตลาดหุ้นเกิดใหม่เช่นกัน)
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเน้นหุ้นที่มีเงินปันผล ราคาไม่แพงและกำไรสุทธิยังคงเติบโตได้แม้ไม่สูงก็ตาม เพื่อลดความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ในขณะที่แนะนำให้เริ่มทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี หลังจากมูลค่าหุ้นลดลงมาสะท้อนความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว โดยคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว และ สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย
ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning and Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง สาระสำคัญของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 มีดังนี้ ภาษีที่ดินฯ เป็นภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีหลักการว่า "ใครเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (เจ้าของกรรมสิทธิ์) จะมีหน้าที่เสียภาษีที่ดินฯ" ซึ่งคิดจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น คูณด้วยอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ (ราคาประเมิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด) การที่จะดูว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น จะดูในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ดังนั้น หากวันที่ 1 มกราคม 2563 ใครมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ย่อมหมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินฯ ในปีนั้น
การจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากบ้านพักอาศัยนั้น แบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
- กรณีที่ 1 คือ หากเป็นเจ้าของบ้านพักอาศัยพร้อมที่ดินที่มูลค่ารวมกันแล้วเกิน 50 ล้านบาท และบุคคลนั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านที่เป็นเจ้าของ บุคคลนั้นย่อมได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะส่วน 50 ล้านบาทตามกฎหมาย
- กรณีที่ 2 คือ หากเป็นเจ้าของบ้าน (สิ่งปลูกสร้าง) อย่างเดียว โดยสร้างอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นและบุคคลที่เป็นเจ้าของบ้านมีชื่อในทะเบียนบ้าน ถ้ามูลค่าของบ้านเกิน 10 ล้านบาท บุคคลนั้นย่อมได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะส่วน 10 ล้านบาทตามกฎหมาย
สำหรับราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดย "ราคาประเมิน คือ ราคาที่หน่วยงานราชการประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ" ซึ่งเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำราคาประเมินนี้คูณด้วยอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ดินฯ จะแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยมี 4 ประเภทดังนี้
- ประเภทที่ 1 คือ "เพื่อการเกษตร" หากเป็นกรณีของบุคคลธรรมดาที่ทำการเกษตร 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บุคคลนั้นจะได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย ส่วนเรื่องที่ว่าที่ดินลักษณะใดจะถือเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรนั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรนั้น ๆ ด้วย ซึ่งต้องรอติดตามกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่อไป
- ประเภทที่ 2 คือ "บ้านพักอาศัย" เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ได้แก่ บ้านพร้อมที่ดิน บ้านเพียงอย่างเดียว หรือ คอนโด โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จะเป็นไปตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น
- ประเภทที่ 3 คือ "อื่น ๆ" เป็นที่ดินที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่กรณีของการปล่อยทิ้งรกร้าง โดยอาจจะเป็นการใช้งานในเชิงพาณิชย์ (เช่น อพาร์ทเม้นท์ โรงแรม โรงงาน เป็นต้น) หรือเป็นกรณีที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย โดยประเภทที่ 3 นี้จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่า 2 ประเภทข้างต้น
- ประเภทที่ 4 คือ "ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า" เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์หรือได้รับการพัฒนาแต่อย่างใด และถือเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างประเภทที่จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูงที่สุด