กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
โดย ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย(Spearhead)ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
พลันที่ไอเดียเรื่องการย้ายเมืองหลวงหลุดออกจากปากของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่ประชุมประจำปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดเป็นกระแสถกเถียงกันอย่างกว้างขวางบนโลกโซเชียล
ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการย้ายเมืองหลวง และการจราจรหรือความแออัดของประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองก็ไม่ใช่ปัญหาเดียว แต่ก่อนหน้านี้ข้อกังวลหนึ่งมาจากการทรุดตัวของพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ผนวกกับกรณีที่นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศเดินหน้าย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปที่เมืองคาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 1,300 กิโลเมตร ยิ่งทำให้ประเทศไทย ซึ่งติดอันดับ 6 ต่อจากเมืองอิเหนาในท็อปลิสต์ประเทศที่เสี่ยงต่อการจมลงใต้น้ำในเอเชีย ต้องหันมาพิจารณาอย่างจริงจังถึงประเด็นนี้
ไม่ว่าจะเป็นกรณีวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงสุดในรอบ 40 ปีของจังหวัดอุบลราชธานี ที่เพิ่งประสบมาหมาดๆ ด้วยความสูงของระดับน้ำมากสุดถึงกว่า 10 เมตร หรือเพราะความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศที่ดูเหมือนปีนี้จะกลับตาลปัตร เกิดภัยแล้งในหน้าฝน และน้ำท่วมในฤดูแล้ง ล้วนเป็นการตอกย้ำความกังวลในเรื่องนี้
รศ.ดร.สุจริต คูณธรกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ให้ทัศนะว่า ปีนี้เป็นปีที่ผิดปกติหลายอย่าง ตั้งแต่เริ่มหน้าฝนเราก็ประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนตกช้าเกือบ 2 เดือน เป็นห่วงว่าหน้าแล้งปีนี้เราจะมีน้ำกินน้ำใช้หรือเปล่า แต่พอสองสัปดาห์ผ่านไปเกิดภาวะฝนตกหนักเป็นช่วงๆ ในแต่ละพื้นที่ทำให้น้ำกระจุกตัวเกิดน้ำท่วมสูง 4-5 เมตร ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน
" พูดถึงการวางแผนน้ำในมิติของภาวะปกติ ผมคิดว่าเราทำได้ดีอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดลักษณะของสุดโต่งขึ้นมา ในระบบของเรา เราอาจจะมีทางเลือก 2-3 อย่างคือ 1. เรื่องของการปรับโครงสร้างที่มีอยู่ให้สามารถรองรับได้มากขึ้น 2. เพิ่มระบบการจัดการเมื่อเกิดวิกฤติให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด 3. การปรับตัวของชุมชนเอง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่ที่การจัดการน้ำต้องเพิ่มเข้ามา ที่ผ่านมาเรามุ่งในเรื่องของการวางโครงสร้าง ซึ่งเราหวังว่าการทำโครงสร้างจะช่วยแก้ปัญหาหรือลดปัญหาได้ แต่ด้วยสภาวะที่พบเจอในปัจจุบันมันเริ่มจะไม่พอแล้ว"
หนึ่งในการเตรียมการณ์รับมือกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนแบบสุดโต่งคือ การวางแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า "กรุงเทพจม"
"ในช่วงที่มีสภาปฏิรูป 2-3 ปีที่แล้วประเทศไทยได้สรุปเรื่องทั้งหมดประมาณ 34 เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ "กรุงเทพจม" เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้รับการยกขึ้นมา เพราะว่าถ้าเราไม่เตรียมตัวในสภาวะแบบนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นเศรษฐกิจของเราจะเสียหายพอสมควร ซึ่งในการศึกษาเราพบว่าไทยเป็นหนึ่งใน 7 ประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดน้ำทะเลสูง และการลุกล้ำของระดับน้ำทะเลจะสูงกว่า 2 เมตร เป็นประเด็นที่ทำให้สภาปฏิรูปแต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งเรียกว่า "กรุงเทพจม" เพื่อเตรียมการรับมือวิกฤตการณ์น้ำทะเลขึ้นสูงและแผ่นดินทรุดพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล"
ประธานคณะกรรมการอำนวยการ Spearhead อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า "กรุงเทพจม" นั้น ประกอบด้วย 3 เรื่อง หนึ่ง การทรุดตัวของแผ่นดิน ซึ่งประมาณ 70% ของการทรุดตัวเกิดจากการสูบน้ำเกินศักยภาพ โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มมาตรการในการเก็บค่าน้ำบาดาลเพื่อให้คนหันไปใช้น้ำประปา ถ้าเราสามารถควบคุมการใช้น้ำบาดาลได้ในระดับหนึ่ง การทรุดตัวก็จะอยู่ในอัตราที่เราควบคุมได้
สอง การขยายตัวของเมืองทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่จัดการได้ยากก็จะไปโยงกับเรื่องที่เราพูดถึงการย้ายเมืองหลวง "จริงๆ ปัญหาของอินโดนีเซียซับซ้อนกว่ามาก เพราะขนาดของเมืองที่ใหญ่มาก นอกจากเรื่องการขุดน้ำบาดาล อีกปัญหาหนึ่งคือ การมีน้ำดิบไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงชุมชนหรือประชาชน เนื่องจากปัญหาน้ำเสีย ทั้งยังมีข้อจำกัดเพราะแหล่งน้ำข้างเคียงมีไม่พอ ขณะที่เรื่องของการจราจรก็หนักมาก "ส่วนของเราจะต่างตรงที่เรามีพื้นที่ข้างเคียงซึ่งมีทั้งแม่น้ำป่าสัก แม่กลอง บางปะกงบางส่วนที่อาจจะช่วยได้ถ้าเรากระจายเมืองให้ออกมาคล้ายแซทเทิลไลท์ ทาวน์ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯแห่งเดียว อาจจะกระจายไปที่นครปฐมบ้าง นครนายกบ้าง ถ้าเราจัดรูปแบบนี้ได้ทำให้เราสามารถควบคุมการเจริญเติบโตไม่ให้กระจุกตัว จึงเสนอให้ฝ่ายทำน้ำประปาให้วางแผน 20 ปีเผื่อไว้สำหรับอนาคตทั้งแบบกระจุกตัวและกระจายตัว เพื่อเราจะมั่นใจว่ามีน้ำประปาจากน้ำผิวดินพอสมควร จากนั้นเราก็จะพึ่งพาน้ำบาดาลน้อยลง การทรุดตัวของพื้นที่ก็น้อยลงไปด้วย"
ปัจจัยที่สามของกรุงเทพจม คือ การขึ้นลงของน้ำทะเล รศ.ดร.สุจริต อธิบายว่า "ประเด็นนี้ถ้าจุดสูงสุดของน้ำขึ้นอยู่ที่ประมาณ 90 เซนติเมตรในอีก100 ปี เราก็ยังมีเวลาพอที่จะเตรียมรับมือ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาโลกเรื่องการเพิ่มขึ้นของ CO2 เป็นความตกลงปารีสที่เราจะพยายามลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงหรือเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องดูว่าความพยายามนี้สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานี้ได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามยังมีเวลาอีก 10 กว่าปี ถ้าโลกยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อีก 10 ปีเราอาจจะต้องจริงจังในการดูแลการขึ้นลงของน้ำทะเล
ฉะนั้นเราจะต้องติดตามสถานการณ์และเสริมความรู้ อย่างน้อยเราต้องช่วยกันลดภาระ CO2 เพื่อให้ความร้อนในโลกลดลงไปบ้าง นั่นคือ มีการวางแผนเรื่องน้ำในระยะยาวขึ้น และลดการทรุดตัวของแผ่นดิน เรื่องการทำแผนเพื่อการหาแหล่งน้ำดิบ ขณะเดียวกันทางกรุงเทพฯ ก็ต้องคุยกันว่า การจัดผังเมืองที่เป็นระบบกระจายทำอย่างไรได้บ้าง จากนั้นก็ให้ความรู้กับประชาชนในการเตรียมตัว ซึ่งเราจะมีเวลา 5-10 ปีในการตัดสินใจตรงนั้น"
สำหรับงานวิจัยของ Climate Central ที่ระบุว่ากรุงเทพฯ มีความเสี่ยงต่อการจมลงใต้น้ำในอีก 30 ปีข้างหน้านั้น รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ประเทศไทยมีมาตรการรองรับในแต่ละประเด็นอยู่แล้ว ทั้งเรื่องการทรุดของแผ่นดินจากการสูบน้ำ การวางผังเมืองรองรับน้ำหนัก การจัดเตรียมเรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่ การจัดการน้ำท่วม มีการเพิ่มความระมัดระวัง และมีโครงการจะเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ รวมถึงการติดตามการเพิ่มของระดับน้ำทะเลและการจัดการเพื่อลดภาวะของการขึ้นของระดับน้ำทะเล แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องที่เราควรตื่นตัวและติดตามข้อเท็จจริง แต่ไม่ควรตื่นตระหนกมากนัก เพราะจะทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่เกินข้อเท็จจริงได้.