กทม.บูรณาการแก้ไขจุดเสี่ยงดูแลความปลอดภัยประชาชน

ข่าวทั่วไป Tuesday November 19, 2019 16:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวกรณีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิดเผยข้อมูล 611 จุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้แคมเปญ First Pin "ปักหมุดจุดเผือก" ซึ่งพบลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด 7 อันดับ ประกอบด้วย จุดที่ขาดการบำรุงรักษา บริเวณที่ไฟสว่างไม่เพียงพอ จุดอับสายตา ทางเปลี่ยว ทางแคบทางตัน พื้นที่ที่ไม่มีป้ายบอกทางและไกลจากสถานีตำรวจว่า สำนักเทศกิจ กทม. ร่วมกับฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตออกตรวจตราจุดเสี่ยงภัยต่ออาชญากรรมหรือภัยอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ที่เปลี่ยว ที่มืดหรือแสงสว่างไม่เพียงพออย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการที่สนับสนุนนโยบายการดูแลความปลอดภัย อาทิ โครงการตรวจจุดเสี่ยงภัย (จุดตู้เขียว) สำรวจจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่และติดตั้งตู้เขียว จำนวน 673 จุด โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจและฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขต จะเข้าไปตรวจจุดดังกล่าวทั้งเวลากลางวันและกลางคืนเป็นประจำทุกวัน, โครงการกลับบ้านปลอดภัยไปกับเทศกิจ จัดรถสายตรวจเทศกิจ พร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตละ 2 จุด บริการรับ - ส่งประชาชนในเวลากลางคืนในบริเวณที่ไม่มีบริการรถสาธารณะ, โครงการเทศกิจห่วงใยใส่ใจนักท่องเที่ยว โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตรา อำนวยความสะดวก ประชาสัมพันธ์ แนะนำเส้นทาง และดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งโครงการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว (HAPPY BANGKOK) โดยร่วมกับสำนักงานเขตพระนคร ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ อปพร. มูลนิธิ อาสาสมัคร ตำรวจบ้าน เป็นต้น ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจากแสงสว่างไม่เพียงพอ สำนักการโยธา กทม. ได้กำหนดแนวทางการจัดซ่อมไฟฟ้าชำรุด โดยจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจัดซ่อมเองกรณีชำรุดไม่มากหรือดำเนิน การจ้างซ่อมหากเกิดกรณีชำรุดมาก และแจ้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ประเมินราคาค่าซ่อม ซึ่งภายหลังจาก กฟน. ประเมินราคาค่าซ่อมและส่งให้สำนักการโยธา หากสำนักการโยธาตอบตกลง กฟน. จะเข้าดำเนินการจัดซ่อมต่อไป ทั้งนี้ ในการแจ้งเหตุไฟฟ้าชำรุดไปยัง กฟน. อาจมีขั้นตอนที่ทำให้เกิดการล่าช้า ซึ่งขณะนี้ กทม. และ กฟน. อยู่ระหว่างร่วมกันปรับปรุงบันทึกข้อตกลง เพื่อให้การดำเนินการจัดซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัด จ้างภาครัฐ พ.ศ.2560 นอกจากนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจนครบาล สำนักเทศกิจ กทม. และสำนักงานเขต ในการลงพื้นที่สำรวจจุดเสี่ยง รวมทั้งยังได้ดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) บริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรม จำนวน 3,263 กล้อง พร้อมเชื่อมโยงสัญญาณภาพไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาล และสำนักงานเขต 50 เขต อีกทั้ง ในปี 2563 ได้รับงบประมาณติดตั้งกล้อง CCTV บริเวณชุมนุมชนและจุดเสี่ยงอาชญากรรมเพิ่มเติมอีก จำนวน 3,342 กล้อง ทั้งนี้ กทม. จะประสานขอข้อมูลจุดเสี่ยง 611 จุดจากตำรวจนครบาลและเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานของ กทม. เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อแก้ไขในเบื้องต้นก่อน และจะขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ