กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ชมฉวีวรรณ
หลังจากเข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ที่ดำเนินการโดยธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย) และเดอะ ฟินแล็บ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั้ง 15 บริษัทได้นำเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันต่างๆ ไปใช้งาน เพื่อปรับและขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัล ซึ่งได้เห็นผลลัพธ์เชิงบวกที่สำคัญ โดยได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ ลดต้นทุนต่างๆ สร้างทัศนคติและความคิดดิจิทัลให้เกิดขึ้นในองค์กร พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
ไทยนับเป็นประเทศแรกต่อจากสิงคโปร์ที่ ยูโอบีและเดอะ ฟินแล็บนำโครงการ Smart Business Transformation เข้ามาบ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ตามรอยความสำเร็จของโครงการที่สามารถบ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประเทศสิงคโปร์ โดยเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการดำเนินโครงการ เอสเอ็มอีทั้ง 15 บริษัท ได้มีโอกาสทบทวนและวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจของตนเอง เพื่อบ่งชี้โอกาสในการพัฒนา รวมถึงได้กำหนดกลยุทธ์ระยะยาวในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ก่อนที่จะได้ทดลองใช้ดิจิทัลโซลูชันต่างๆ ที่ทางโครงการได้คัดเลือกและแนะนำที่เหมาะกับธุรกิจ เพื่อจัดการความท้าทายต่างๆ ที่ประสบปัญหาอยู่
ผลจากการสำรวจที่ทางเดอะ ฟินแล็บได้จัดทำไปก่อนหน้านี้พบว่าเอสเอ็มอีในประเทศไทยระบุว่า กลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต 2อันดับแรก คือ การรุกตลาดใหม่ (ร้อยละ54) และการทำการตลาดดิจิทัลเพื่อเพิ่มยอดขาย (ร้อยละ51)
โดยเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation ได้เล่าว่าโซลูชันที่พวกเขานำไปใช้ ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจและเพิ่มความผูกพันกับลูกค้า เนื่องจากกระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มียอดขายที่สูงขึ้นจากการนำเครื่องมือทางการตลาดดิจิทัลไปใช้และยังช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการและการทำการตลาดอีกด้วย ที่สำคัญพวกเขายังเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องทัศนคติและความคิดที่พร้อมที่จะยอมรับและปรับตัวเองและองค์กรให้ไปสู่ดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับเจ้าของ ผู้บริหารหรือผู้ที่มีสิทธิ์จัดสินใจในนโยบายเท่านั้น แต่รวมไปถึงพนักงานในองค์กรด้วย ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อองค์กรต้องปรับตัว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้แรงบันดาลใจในการรุกตลาดใหม่ด้วยการขยายธุรกิจออกนอกประเทศไทย
คุณปิยพร รัตน์ประสาทพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขาและบริการดิจิทัล ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า"เรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะช่วยติดอาวุธและทักษะเอสเอ็มอีไทย ให้สามารถเติบโตได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยโครงการSmart Business Transformation ที่เราได้ดำเนินการด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งไม่ว่าจะเป็น เดอะ ฟินแล็บ depaสวทช. และ สสว. เราเชื่อว่าผู้ประกอบการจะมีความรู้และทักษะดิจิทัลที่จำเป็น รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถนำพาธุรกิจให้เติบโตได้ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ นอกจากนี้ ด้วยเครือข่ายที่มั่นคงและครอบคลุมทั่วภูมิภาคของกลุ่มธนาคารยูโอบี เราจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย"
นายเฟลิกซ์ ตัน หัวหน้ากลุ่มงานร่วม เดอะ ฟินแล็บ กล่าวว่า "เรารู้สึกภูมิใจกับเอสเอ็มอีทั้ง 15 บริษัทแรกที่เข้าร่วมโครงการSmart Business Transformation ในประเทศไทยอย่างมาก เพราะแม้โครงการ 3 เดือนจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่เรายังเห็นแรงผลักดันและความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจของพวกเขายังคงดำเนินต่อไป หลายบริษัทกำลังใช้ดิจิทัลโซลูชันที่เขาได้จับคู่ทดลองใช้ซึ่งพวกเขากำลังเห็นผลลัพธ์ในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นยอดขายและจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำธุรกิจ ด้วยความร่วมมือกับ ยูโอบี depa สวทช. และ สสว. เราจะให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีในการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเพื่อช่วยให้พวกเขานำธุรกิจไปสู่อีกระดับต่อไป"
บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ผู้ให้การสนับสนุนหลักชุดแข่งนักฟุตบอลทีมชาติไทย หนึ่งในเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการได้ทำงานร่วมกับ Boostorder และ Anchanto เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเชื่อมลูกค้าไปสู่ร้านค้าปลีก
นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด กล่าวว่า "ในฐานะผู้ค้าส่งและค้าปลีกเครื่องแต่งกายกีฬา เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ Warrix เป็นแบรนด์ที่คนใช้และรู้จักทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โครงการSmart Business Transformation ช่วยให้บริษัทฯ พัฒนาโครงสร้างการบริหารและปรับขยายขนาดธุรกิจ ซึ่งเพียง 3 เดือนหลังจากดำเนินการเราสามารถบรรลุเป้าการเติบโตยอดขายประจำเดือนที่สูงขึ้นถึง 270% และเราคาดว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้น 400%ภายในสิ้นปีนี้ และ ตอนนี้เรายังมั่นใจมากขึ้นในแผนการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วยแพลตฟอร์มการขายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประเทศแรกที่เราตั้งใจว่าคืออินโดนีเซียซึ่งเราเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากเครือข่ายที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคารยูโอบีในประเทศอินโดนีเซีย"
เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย เจ้าของผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กภายใต้แบรนด์ 'Nappi' ใช้วัสดุใยไผ่ด้วยวิธีการเก็บเกี่ยวแบบยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งเอสเอ็มอีรุ่นแรกที่เข้าร่วมบ่มเพาะในโครงการ โดย Nappi ได้ทดลองใช้ 3 โซลูชัน ได้แก่ UOB BizSmart, Offeo และZaviago มีเป้าหมายในการสร้างความเติบโตของแบรนด์และนำเสนอคุณสมบัติด้านการดูดซับที่ดีเยี่ยมของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ผ่านการตลาดออนไลน์ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เณริศา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ เอ ลิทเทิล ลัลลาบาย กล่าวว่า "หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่เราประสบอยู่คือการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งให้แก่ผลิตภัณฑ์ของเราท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ Smart Business Transformation เราได้เรียนรู้ถึงการทำการตลาดออนไลน์ที่ดีขึ้น และนำโซลูชันการตลาดระบบดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อสร้างการเติบโตแก่แบรนด์ของเรา ยกตัวอย่างเช่น เราได้ใช้ Offeo สร้างสรรค์วิดีโอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กบนสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากขึ้นถึง 20% ที่สำคัญไปกว่านั้น ตอนนี้พนักงานในบริษัทมีความพร้อมและเข้าใจว่าทำไมเราต้องปรับตัวและต้องนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานถ้าเราต้องการขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เช่นประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เราเห็นศักยภาพและโอกาสในการทำตลาดให้สินค้าของเรามาโดยตลอด แต่ด้วยความแตกต่างทางภาษาและช่องทางการทำการตลาดออนไลน์ที่เฉพาะตัวของประเทศจีน ทำให้จีน คือตลาดที่เป็นความท้าทายของเรา แต่ด้วยคำแนะนำและเครือข่ายของธนาคาร ยูโอบีและเดอะ ฟินแล็บ ประกอบกับรูปแบบการทำธุรกิจของเราที่พัฒนาขึ้นหลังจากเข้าโครงการ ทำให้ตอนนี้เรามั่นใจมากขึ้นว่าเราจะสามารถเข้าไปทำธุรกิจในตลาดใหม่ได้ดีขึ้น"