กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ
19 พฤศจิกายน 2562 กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค กลุ่มงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม แหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญ เพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำเสียจากการผลิตมะพร้าวขาว นำไปออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียให้กับผู้ประกอบการ เป้าหมายเสริมองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวขาว สามารถนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียที่พัฒนาขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์และใช้งานได้จริง ร่วมทั้งการปล่อยน้ำทิ้งที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยลงพื้นที่สำรวจระหว่างวันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน 2562 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม
ทั้งนี้กองเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์อุปโภค (คอ.) กลุ่มงานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ออกแบบและสร้างระบบบำบัดน้ำเสียระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สำหรับบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมะพร้าวขาว โดยการศึกษากระบวนการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ใช้จุลินทรีย์ที่เหมาะสม และหาสภาวะที่เหมาะเพื่อการบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมะพร้าว เป็นงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ที่พัฒนาเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียจากการแช่/ล้างชิ้นเนื้อมะพร้าวด้วยวิธีทางชีวภาพ โดยใช้หลักการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์ น้ำมันและไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ระบบบำบัดที่ได้มีขนาดเล็กลง ใช้พื้นที่น้อย และช่วยลดภาระในการบำบัดของเสียที่เกิดจากการดักจับไขมัน นอกจากนี้การย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้แล้ว ยังให้ผลผลิตเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่สามารถพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนต่อไปได้ในอนาคต