กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--พีพลัส คอร์เปอเรท
ขสมก. จัดประชุม workshop เป้าหมายพัฒนาคุณภาพงานบริการ และลดภาระประชาชน ระดมสมองสนองนโยบาย ค่าโดยสาร " วันละ30บาท "
ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) กล่าวว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน นี้ เวลา 13.00 น. ขสมก. จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แผนการพื้นฟูขสมก. โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. การแก้ปัญหาขสมก.อย่างยั่งยืน 2.การยกระดับคุณภาพงานบริการ และ 3.การลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เป็นสำคัญ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ประเด็นสำคัญที่จะมีการระดมสมอง ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ รมว.คมนาคม ให้หลักคิดว่า จะต้องทำให้ทุกคน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ องค์กรขสมก. จะต้องหลุดพ้นจากสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ใช่แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการก่อหนี้ใหม่. พนักงานต้องมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน ประชาชนต้องได้รับบริการที่ดี มีค่าใช้จ่ายลดลง และสังคมส่วนรวม ไม่ต้องมีส่วนร่วมรับภาระหนี้สินของขสมก. อีก ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบ เช่น พนักงานบางส่วนต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จะต้องมีมาตรการชดเชยสูงสุด และคำนึงถึงความเป็นจริงในการดำรงชีวิตต่อไป อย่างเป็นธรรม
เป้าหมายหลักของการฟื้นฟูขสมก.
1. การแก้ปัญหาหนี้สินขสมก. และสร้างความแข็งแรงให้แก่ขสมก.อย่างยั่งยืน จะต้องไม่ก่อหนี้ใหม่อีก ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้มีการศึกษา จัดทำแผนฟื้นฟูขสมก. กันใหม่ จากที่ให้มีการซื้อรถ 3,500 คัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณ มากกว่า 20,000 ล้านบาท ขสมก. ไม่อยู่ในสถานะที่จะจัดซื้อได้ และ เป็นภาระงบประมาณของประเทศ จึงมีการเสนอให้ใช้วิธีการจ้างผู้ประกอบการมาให้บริการ แล้วนำรายได้จากการให้บริการมาจ่ายเป็นค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบัน ขสมก. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว หลายเส้นทาง เป็นวิธีการที่จะไม่ต้องสร้างหนี้ให้ ขสมก. และไม่เป็นภาระแก่รัฐบาล ที่ต้องเอาเงินภาษีประชาชน มาอุดหนุนและแก้ปัญหาหนี้สิน ขสมก.ในที่สุด
2. การยกระดับบริการที่ดี และ ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ รมว.คมนาคม และผลการศึกษาของคณะทำงานขสมก. พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน ได้ จากแผนฟื้นฟูเดิม ที่ประชาชนมีค่าเดินทาง เฉลี่ยวันละ 48 บาท เป็นวันละ 30 บาท เมื่อใช้รถปรับอากาศ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถให้บริการประชาชน ให้เป็นระบบเชื่อมต่อสายหลักกับสายรอง อย่างครบถ้วน และ ใช้ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารระบบเดียวกัน ซึ่งเป็นสำคัญประเด็นที่จะนำเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับการยกระดับบริการด้วยการใช้รถปรับอากาศ ทั้งระบบ และ เป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ NGV หรือ ไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณมลพิษ PM2.5
3. การสร้างขวัญกำลังใจที่ดีแก่พนักงานขสมก. และให้ความเป็นธรรมแก่พนักงาน ที่จะได้รับผลกระทบจากแผนฟื้นฟู ซึ่งจากการศึกษา มีเพียงกลุ่มเดียว คือ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ประมาณ 5,000 คน เนื่องจากรถโดยสารในปัจจุบันนี้ ใช้ระบบ E-TICKET ซึ่งจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชย อย่างเหมาะสม และเป็นธรรม ในเบื้องต้นคาดว่า จะใช้เงินชดเชย ประมาณ 5,000 ล้านบาท และดำเนินการอย่างนุ่มนวล ร่วมกับองค์กรตัวแทนพนักงาน คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก.
4. การดำเนินการด้วยระบบธรรมาภิบาล และ พร้อมให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่แผนฟื้นฟู ที่จะต้องให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และ เปิดรับฟังเสียงประชาชนผู้ใช้บริการ มากที่สุด
ขสมก. เชื่อว่า ด้วยแนวทาง 4 ประการ ที่จะนำเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ วันที่ 21 พฤศจิกายน นี้ จะทำให้ได้รับความคิดเห็นที่ดีจากผู้ร่วมประชุม และ จะได้นำแผนฟื้นฟู และข้อเสนอจากที่ประชุม รายงานให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับทราบทางเว็บไซต์ ขสมก. เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย และ มีความมั่นใจว่า แนวทางที่จะนำเสนอนี้ เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาขสมก. สร้างความเข้มแข็งให้แก่ขสมก.อย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระของรัฐบาล อีกต่อไป ที่สำคัญที่สุด คือ จะเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ดี และ มีค่าใช้จ่ายการเดินทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญของปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล "จากการศึกษาของขสมก. หากแผนการฟื้นฟูฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบ ให้ดำเนินการได้ ต่อไป ประชาชน จะสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายการเดินทางได้ ไม่เกินเดือนละ 900 บาท และหากซื้อตั๋วเดือน จะจ่ายเพียงเดือนละ 750 บาท เท่านั้น และรถทุกคันที่ให้บริการประชาชน จะเป็นรถปรับอากาศ ที่ไม่สร้างมลภาวะในอากาศ" รถเมล์ทุกคันต้องเป็นรถปรับอากาศตั๋ววันละ 30 บาท ขึ้นได้ทุกสาย กี่เที่ยวก็ได้
21 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น ร่วมระดมสมองปฎิรูป ขสมก. เพื่อชีวิตคนกรุงเทพ ฯ ที่กระทรวงคมนาคม ซื้อรถเมล์ 3,500 คัน ขสมก.ก่อหนี้ 20,000 ล้านบาท คุณเห็นด้วยไหม?