กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
เนื่องในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันสิทธิเด็กสากล" ขององค์การสหประชาชาติ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ เป็นปีครบรอบ 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ Convention on the Rights of the Child (CRC) ที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
CRC ถือเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศแรกที่ตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยต่อมาได้กลายเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประเทศสมาชิกให้สัตยาบันจำนวนมากที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ เด็กมักจะถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่ไม่สำคัญ และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับสิทธิต่างๆ แต่เมื่อมีอนุสัญญาดังกล่าวขึ้น ทำให้รัฐมีพันธะผูกพัน ทั้งทางด้านกฎหมาย และศีลธรรมในการทำให้เด็กได้รับสิทธิของตน
จากงานวิจัยด้านสิทธิเด็กในเอเชียอาคเนย์ของ ดร.มาร์ค ปีเตอร์ คาปาลดี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) พบว่า มีเด็กอพยพประมาณ 500,000 คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่มีเอกสารรับรองการเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เด็กเหล่านี้จึงตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกแสวงประโยชน์ และการละเมิด รวมถึงการค้าเด็ก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีการจัดการทางกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการค้ามนุษย์ในเด็กอย่างเข้มงวด ดร.มาร์ค ปีเตอร์ คาปาลดี จึงมองว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ให้เข้าถึงสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ
นอกจากนี้ งานวิจัยของ ดร.มาร์ค ปีเตอร์ คาปาลดี ยังพบว่า แรงงานเด็กวัยรุ่นต่างด้าวส่วนใหญ่ที่ทำงานในประเทศไทยมีความสุขกับชีวิตและงาน เนื่องจาก ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ และได้ส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ แต่ก็พบว่า บางครั้งถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และเสี่ยงต่อการถูกจับส่งกลับประเทศ
บทสรุปจากงานวิจัยของ ดร.มาร์ค ปีเตอร์ คาปาลดี ได้เรียกร้องให้สนับสนุนการย้ายถิ่นอย่างถูกกฎหมายและปลอดภัย ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของอาเซียน ปี ค.ศ.2025 (พ.ศ.2568) ที่ว่า "ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วยกัน" (Forging Ahead Together)
ดร.มาร์ค ปีเตอร์ คาปาลดี กล่าวต่อไปว่า ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (IHRP) มีการเรียนการสอนและวิจัย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิเด็กเป็นส่วนสำคัญ ทั้งในหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก เราไม่เพียงแต่เข้าใจถึงมาตรฐาน และกลไกด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังสอนให้นักศึกษาได้เข้าใจแนวคิด และทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีการที่สังคมมอง และปฏิบัติต่อเด็กๆ โดยนักศึกษาของเราหลายคนเลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาสิทธิเด็กในเอเชีย โดยเราจะช่วยแนะวิธีการวิจัยที่เหมาะสมให้กับนักศึกษาด้วย
ติดตามข่าวสารและบทความที่น่าสนใจด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้ที่ www.ihrp.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร.0-2849-6210