ปภ. จันทบุรีวางแผนป้องกันภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday February 29, 2008 12:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี จัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี ปี 2551 เพื่อวางแผนกำหนดมาตรการ แนวทางในการป้องกันภัยแล้ง ซึ่งมั่นใจว่าในปีนี้สามารถรับมือสถานการณ์ ภัยแล้งได้อย่างแน่นอน เนื่องจากฝนที่ตกลงมา ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาพอากาศได้เปลี่ยนแปลงจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำในการอุปโภค — บริโภค และเพื่อการเกษตร โดยขณะนี้จังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 8 อำเภอ 47 ตำบล 522 หมู่บ้าน ซึ่งจังหวัดจันทบุรีได้เตรียมความพร้อมป้องกันภัยแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัด จันทบุรีขึ้น และจัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน และวางแนวทางการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะไม่รุนแรงมากนัก อยู่ในภาวะที่สามารถรับมือได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้แหล่งน้ำในหลายพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรีมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และ จากการตรวจสอบแหล่งน้ำต่างๆ พบว่าขณะนี้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภค — บริโภค และเพื่อการเกษตรที่กำลังอยู่ในช่วงให้ผลผลิต สำหรับพื้นที่ประสบภัยที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค — บริโภค สนง.ปภ.จ.จันทบุรีได้ประสานงานกับ กองกำลังป้องกันชายแดนจันทบุรี — ตราด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานชลประทานจังหวัดชลบุรี แจกจ่ายน้ำสำหรับอุปโภค — บริโภคให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่แล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายนิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า สนง.ปภ.จ.จันทบุรี ได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างคุ้มค่า เพื่อให้มีน้ำใช้ ตลอดฤดูแล้ง โดยปฏิบัติดังนี้ ไม่เปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลา ในขณะที่อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่ควรเปิดน้ำเฉพาะช่วงที่ ชะล้างทำความสะอาดเท่านั้น ควรหาภาชนะใส่ขณะล้างผักและผลไม้จะช่วยประหยัดน้ำมากกว่าการเปิดน้ำล้างตลอดเวลาถึง 1 เท่า และยังนำน้ำไปรดต้นไม้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นได้ และควรติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อกน้ำในฝักบัว ชักโครก ก๊อกน้ำ เพื่อช่วยเพิ่มแรงดันอากาศและลดปริมาณการใช้น้ำ สำหรับเกษตรกร ควรนำกระสอบทรายมาเสริมคันกั้นน้ำให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการพังทลายของคันดินและลดปริมาณการไหลของน้ำให้น้อยลง หากพบรอยแตกหรือรูอาศัยของสัตว์ที่คันดิน ควรรีบซ่อมแซมแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ควรเพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง เช่น พืชตระกูลถั่ว มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงที่ข้าวเจริญเติบโต รวมทั้ง ระมัดระวัง ป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เช่น โรคท้องร่วง โรคพิษสุนัขบ้า สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้งสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ