กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๑๑ จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการรังเกียจ แนะกลุ่มเสี่ยงตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง ทุกสิทธิการรักษา ตรวจเร็ว รู้ผลเร็ว รับการรักษาได้เร็ว ช่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แพทย์หญิงศิริลักษณ์ ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย ยังเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และยังมีการรังเกียจ กีดกัน รวมถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ด้วย ข้อมูลปี 2562 คาดว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 5,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 15 คน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 467,600 คน ซึ่งได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเองแล้วร้อยละ 94 แต่มีเพียงร้อยละ 79 ของผู้ที่รู้สถานะการติดเชื้อของตนเอง ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และในจำนวนของผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส มีเพียงร้อยละ 97 ที่กดไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ ปัจจุบันประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือประมาณปีละ 1,000 ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือประมาณปีละไม่เกิน 4,000 ราย ลดการรังเกียจและเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90 แพทย์หญิงศิริลักษณ์ กล่าวเพิ่ม วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) ในปี 2562 นี้
กรมควบคุมโรคได้กำหนดคำขวัญวันเอดส์โลก คือ "Communities make the difference: รวมพลังชุมชนยุติเอดส์" โดยเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคสังคม ให้มีการทำงานอย่างเป็นเครือข่ายที่เท่าเทียมกัน จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาเอดส์ โดยชุมชนสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้หลายวิธีตั้งแต่สร้างความตระหนักและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้กับคนในชุมชนภาคประชาชนสังคมร่วมการจัดบริการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย "ไม่ติด – ไม่ตาย – ไม่ตีตรา" การเข้าถึงกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชนให้ได้รับการตรวจเอชไอวี และเชื่อมต่อบริการไปยังสถานบริการสุขภาพภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่การบริการป้องกันและดูแลรักษา โดยปีนี้ได้มีการดำเนินงานนำร่องโครงการจัดบริการ PrEP ให้กับประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยคนไทยทุกคนสามารถเข้ารับบริการ PrEP ได้ฟรีที่หน่วยบริการสาธารณสุข ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 21 จังหวัด 51 หน่วยบริการทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422