กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สำนักงาน กปร.
พื้นที่ในตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย รายล้อมไปด้วยภูเขา บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา ในอดีตราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอยปลูกพืชไร่เป็นหลัก เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการบุกรุกแพ้วถางพื้นที่ป่า เป็นผลให้สภาพอากาศและภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไป ลำห้วยเหือดแห้ง ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ในขณะที่ฤดูฝนเกิดการชะล้างของหน้าดิน ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่พื้นที่ทางตอนล่างด้วยความรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินมาอย่างต่อเนื่อง
จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ราษฎรจึงได้ขอพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ณ บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุดตำบลท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อปี 2533 อ่างเก็บน้ำแม่ข้าวต้มท่าสุด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2538 เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดความจุที่ระดับเก็บกัก 520,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือราษฎร 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2 บ้านสันต้นกอก, หมู่ที่ 3 บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด, หมู่ที่ 4 บ้านห้วยเคียน, หมู่ที่ 5 บ้านบ่อทอง, หมู่ที่ 8 บ้านศรีวิเชียร และหมู่ที่ 10 บ้านแม่ข้าวต้มท่าสุด โดยมีราษฎรในพื้นที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำ บริหารจัดการน้ำและช่วยดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน พร้อมปลูกป่าทางตอนบนของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งใช้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมและปลูกมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อป่าไม้สมบูรณ์ความชุ่มชื้นของพื้นที่ก็เพิ่มขึ้น
นายบุญช้วน อุ้ยน้ำเที่ยง ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่าสุด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังว่า จากอดีตที่ทุกคนในหมู่บ้านประสบปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วม ทำให้เข้าใจว่าหากมีป่าที่สมบูรณ์ทางตอนเหนือของอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในอ่างจะเพียงพอกับความต้องการของชุมชน ทุกคนจึงช่วยกันดูแลป่าไม้ในพื้นที่เป็นอย่างดี
"ไม่มีการเข้าไปตัดหรือทำลาย ทุกครั้งที่เดินทางเข้าป่าเพื่อหาของป่าก็จะนำเอากล้าไม้ติดมือเข้าไปปลูกในพื้นที่ด้วย ทำกันอย่างนี้ทุกคนและต่อเนื่อง แม้แต่ปัจจุบันก็ยังทำกันอยู่ สภาพป่าจึงสมบูรณ์ เป็นผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีมากและไม่เคยขาดแคลน เพราะพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำมีป่าไม้ช่วยดูดซับน้ำในหน้าฝนเอาไว้" นายบุญช้วน อุ้ยน้ำเที่ยง กล่าว
ทางด้านนายคำจันทร์ ยาโน หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ อาชีพทำการเกษตรและแกะสลักไม้เป็นผลิตภัณฑ์และเครื่องประดับ เผยว่า ในพื้นที่มีราษฎรจำนวนหนึ่งที่มีอาชีพแกะสลักไม้ ซึ่งในอดีตจะนำไม้จากป่ามาแกะสลักเพื่อจำหน่ายหารายได้ แต่เมื่อประสบปัญหาป่าลดจำนวนลง ทำให้ทุกคนไม่ตัดไม้อีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนกับอาชีพช่างแกะสลักไม้ ทุกคนที่มีอาชีพนี้ก็ยังคงแกะสลักดังเดิม เพียงแต่ไม่แกะสลักจากไม้ที่ตัดใหม่ จะทำจากตอไม้ที่มีอยู่ในหัวไร่ปลายนาซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เนื่องจากในอดีตที่มีการตัดต้นไม้เพื่อทำไร่เลื่อนลอย
"อาชีพนี้ยังอยู่ได้ และดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากกว่าที่ผ่านมาด้วย เพราะตอไม้จากไร่จะมีความแข็งแรงผ่านการถูกเผามาแล้ว จึงเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทาน ขณะที่ลวดลายต่าง ๆ ก็สวยงามกว่า ทุกคนที่แกะสลักตอไม้จะเอาตอไม้จากในไร่มาทำ
ซึ่งเจ้าของพื้นที่ก็ยินดีเพราะจะช่วยให้แปลงเพาะปลูกของเขาไม่มีตอไม้เกะกะเมื่อต้องการปลูกพืช" นายคำจันทร์ ยาโน กล่าว
ล่าสุดนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าในการใช้ประโยชน์ของโครงการฯ พบว่าปัจจุบันราษฎรจำนวน 2,212 ครัวเรือน รวม 5,198 คน มีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้ถึง 1,800 ไร่ ราษฎรสามารถปลูกข้าวได้ทั้งข้าวนาปีและข้าวนาปรัง โดยข้าวนาปีได้ผลผลิตเฉลี่ย 750 ถึง 800 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวนาปรังเฉลี่ย 900 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันดูแลบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำ และรักษาป่าต้นน้ำลำธารในรูปแบบของกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่ข้าวต้มท่าสุดอีกด้วย
การนี้ องคมนตรีได้พบปะเยี่ยมราษฎร รับทราบปัญหาอุปสรรคและความต้องการการใช้น้ำเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด ขยายผล ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกล่าวชื่นชมการบริหารจัดการน้ำและการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำฯ ด้วยว่า ความร่วมมือร่วมใจกันของราษฎรในพื้นที่แห่งนี้นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่หลาย ๆ พื้นที่ที่มีอ่างเก็นน้ำควรเอาเยี่ยงอย่าง โดยเฉพาะการปลูกป่าและรักษาป่าต้นน้ำที่สามารถทำให้ป่าไม้ช่วยเก็บกักน้ำไว้ในป่าตามธรรมชาติแล้วค่อย ๆ ซึมซับมายังอ่างเก็บน้ำทำให้อ่างเก็นน้ำมีปริมาณน้ำที่เต็มอ่างตลอดทั้งปีแม้จะเป็นช่วงฤดูแล้งก็ตาม ทำให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำเพียงพอในการนำมาใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
"กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำอื่น ๆ ควรเข้ามาศึกษาดูงานการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแห่งนี้รวมถึงแนวทางในการปลูกและดูแลรักษาป่าแล้วนำกลับไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง" องคมนตรีกล่าว