กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ม.มหิดล
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคณะพยาบาลศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะสถาบันที่เป็นรากฐานด้านการพยาบาลของไทย โดยในวันที่ 12 มกราคม 2563 จะครบรอบ 123 ปีแห่งการก่อตั้งคณะฯ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต แด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นลำดับแรกของประวัติศาสตร์คณะฯ นับเป็นเกียรติประวัติและสวัสดิมงคลอันสูงยิ่ง โดยทรงเป็นศิษย์เก่าที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนวงการพยาบาลไทยมาอย่างยาวนาน และด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงอุทิศพระองค์ด้านการพยาบาลและสาธารณสุขเพื่อประชาชนชาวไทยมาโดยตลอดพระชมน์ชีพ
รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงนโยบายของคณะฯ ในการเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในแต่ละปีว่า เนื่องจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทหลักในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และการวิจัย รวมทั้งคุณภาพการบริการพยาบาล จึงได้กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณา โดยผู้เข้ารับการเสนอชื่อจะต้องสำเร็จการศึกษาทางด้านการพยาบาลและผดุงครรภ์จากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง และได้อุทิศตนทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยมีผลงานที่ทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในวงวิชาชีพการพยาบาลและสาธารณสุข
ที่ผ่านมา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเสนอชื่อผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จำนวนทั้งสิ้น 22 ราย โดยในปีการศึกษา 2561 คุณชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับพระราชทานปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นลำดับที่ 23 ของประวัติศาสตร์คณะฯ โดยเข้ารับพระราชทานจากพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
คุณชวลี อมาตยกุล เป็นศิษย์เก่าคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสำเร็จการศึกษาอนุปริญญาพยาบาลและอนามัย และประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ เมื่อปี พ.ศ.2517 อีก 4 ปีต่อมาสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาลสาธารณสุข) จาก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และล่าสุดปี พ.ศ.2551 สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) จาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตลอดเวลา 43 ปีที่คุณชวลี อมาตยกุล ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความตั้งใจเพียรพยายาม โดยมีความมุมานะในการใช้ความรู้ของวิชาชีพการพยาบาล การสาธารณสุข และการบริหาร มาบูรณาการ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้รับผิดชอบงานส่วนพระองค์ โดยคุณชวลี อมาตยกุล เป็นผู้ดูแลวังสระปทุม ตั้งแต่ปี 2543 ที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) และยังได้ถวายงานตามเสด็จพระองค์ทรงงานพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในถิ่นทุรกันดารอยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้ คุณชวลี อมาตยกุล เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดสร้างหอพระราชประวัติศรีสวรินทิราราชภักดี และหอพระราชประวัติบรมราชบุพการีกิตติประกาศ ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีคุณชวลี อมาตยกุล เป็นที่ปรึกษาหลัก และยังได้ให้คำปรึกษาในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทยที่จัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกและสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พิพิธภัณฑ์และหอพระราชประวัติทั้ง 2 แห่งนี้ได้รับรางวัล "Museum Thailand Popular Vote 2019" โดยได้รับคะแนนโหวต ติด 1 ใน 10 จากประชาชนผู้เข้าใช้บริการในเว็บไซต์มิวเซียมไทยแลนด์ จัดโดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ มิวเซียมสยาม
คุณชวลี อมาตยกุล กล่าวว่า ปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ได้เข้ารับพระราชทานนี้เป็นเกียรติยศสูงสุดของวิชาชีพพยาบาล ด้วยความภาคภูมิใจอย่างที่สุดที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะรองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นเจ้านายที่ทรงทำงานเพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด โดยตนได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดอย่างเต็มกำลังความสามารถตลอดเวลาที่ผ่านมา
"ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่อยากจะเห็นในการพัฒนางานด้านการพยาบาลและสาธารณสุข คือ ไม่เพียงให้ความสำคัญต่อการรักษา แต่ให้มองไปถึงเรื่องของการรณรงค์และป้องกันโรคด้วย อย่าลืมว่าสมเด็จพระราชบิดาท่านทรงจบสาธารณสุขมาก่อนที่จะไปจบแพทย์ แล้วหัวใจของการสาธารณสุข คือ Promotion & Prevention ถ้าเราทำ 2 อย่างนี้ได้ดี และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง จะทำให้จำนวนคนไข้ที่จะกลับไปเป็นซ้ำแล้ว จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะลดจำนวนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรค NCDs ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ ไปจนถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ" คุณชวลี อมาตยกุล กล่าวทิ้งท้าย
ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 123 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาพยาบาล และหน่วยงานด้านสุขภาพชั้นนำในระดับประเทศ และต่างประเทศ จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ "N-nergizing Nursing Profession for NCD Challenges (N3 Nursing Conference)" ระหว่างวันที่ 8 - 10 มกราคม 2563 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ เพื่อแสดงพลังของพยาบาลในต่อสู้ กับ NCDs อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ns.mahidol.ac.th/ncd2020