กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุมสรุปผลการดำเนินงาน (Tentative) ภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวพาณิชย์เชิงบูรณาการจังหวัดตราด ร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดตราด (อพท.3) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องเพิ่มสุข โรงแรมตราดซิตี้ จังหวัดตราด
โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่สินค้าท่องเที่ยวจังหวัดตราด รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความโดดเด่น ความแตกต่างและสร้างความสามารถในการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวพาณิชย์เชิงบูรณาการจังหวัดตราดให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ผ่านการคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ได้แก่
1.วิสาหกิจชุมชนตำบลคลองใหญ่ วิจัยและพัฒนาจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาน้ำพริกเกลือ และโครงการการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำพริกเกลือ
2.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไม้รูด วิจัยและพัฒนาจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบพาราโบล่าโดม และโครการการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กะปิ
3.วิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานเกาะหมาก วิจัยและพัฒนาจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้และกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และโครงการการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เกาะหมาก
4.วิสาหกิจชุมชนเช็คอินตราดฟาร์มเอาท์เล็ต วิจัยและพัฒนาจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตสับปะรดตราดสีทองเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำสับปะรด UHT เพื่อจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์
จากการดำเนินงานของ วว. และพันธมิตรดังกล่าว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ เกิดสินค้าท่องเที่ยวคุณภาพให้กับจังหวัดตราดและพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับงานการยกระดับผลิตภัณฑ์ และส่งผลกระทบทางสังคม คือ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การบริการร่วม (Shared service) และยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในท้องถิ่นให้ดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร รวมทั้งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ คือ ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาจำนวน 2-3 เท่าในปี 2563-2568 โดยเฉพาะสินค้า GI (สินค้าที่ได้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical Indications : GI)