กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กระทรวงการคลัง
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .. พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการนำส่งเงินภาษี และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานและวิธีการรายงาน โดยกฎกระทรวง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 กำหนด มีรายละเอียด ดังนี้
1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากร ดังนี้
(1.1) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีสามารถนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีการให้บริการจากต่างประเทศ ให้แก่สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นแทนการนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรได้ โดยหากนำส่งภาษีไม่ครบถ้วนก็สามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมได้ตามวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด
(1.2) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี ไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงไม่ต้องยื่นแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือแบบยื่นรายการนำส่งภาษี สำหรับรายการนำส่งภาษีข้างต้น
(1.3) กำหนดให้สถาบันการเงิน หรือบุคคลอื่นนำส่งเงินภาษีพร้อมข้อมูลให้แก่กรมสรรพากร และออกหลักฐานแสดงการนำส่งภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีและผู้ถูกหักภาษี ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 สัตตรส แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน จัดทำรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สามพันครั้งขึ้นไป หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยครั้งและมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ สองล้านบาทขึ้น ดังนี้
(2.1) กำหนดให้การจัดทำรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสิ่งอื่นที่ใช้ในการระบุตัวตนของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
2. ชื่อ-สกุล ของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคล ที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
3. จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
4. ยอดรวมของจำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนเงิน
5. เลขที่บัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน
6. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
(2.2) กำหนดให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะข้างต้นตามรูปแบบข้อมูล (Format) และมีฟิลด์ข้อมูล (Data Field) ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และอาจดำเนินการจัดทำและนำส่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(2.3) การเก็บและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะซึ่งต้องรายงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 นั้น ให้เก็บและรวบรวมข้อมูลการฝากหรือรับโอนที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่กฎกระทรวงนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
การเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร 2 ฉบับข้างต้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการนำส่งเงินภาษีและข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับความสะดวกในการเสียภาษีและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารทางภาษี ลดการใช้กระดาษ และลดต้นทุนในการดำเนินการด้านภาษี ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยทำให้การดำเนินการชำระภาษีมีความสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและรองรับกับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนใช้ระบบการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) มากขึ้น โดยระบบ e-Withholding Tax จะพัฒนาให้พร้อมสำหรับการให้บริการกับสถาบันการเงินได้ในเดือนมีนาคม 2563 นอกจากนี้ การรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามร่างกฎกระทรวงที่เสนอจะเป็นการนำข้อมูลไปใช้ ประโยชน์สาธารณะ หากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและการขอสินเชื่อต่างๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขึ้นไป