กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง
บีโอไอดึงนักลงทุนญี่ปุ่นระดับท้องถิ่น ในกลุ่มเครื่องจักร จากภูมิภาคคันไซและชูโกกุ มาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย และจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย คาดเกิดมูลค่าการซื้อขาย กว่า 300 ล้านบาท
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอ โดยสำนักงานบีโอไอ โอซากาได้นำคณะนักลงทุนระดับท้องถิ่นกว่า 70 ราย จากภูมิภาคคันไซ และภูมิภาคชูโกกุ อาทิ นครโอซากา จังหวัดชิมาเน โอกายามา ฮิโรชิมา เป็นต้น มาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย โดยได้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ "Business Opportunity in Thailand" เพื่อรับทราบนโยบายส่งเสริมการลงทุน ศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการลงทุนของอีอีซี ตลอดจนฟังประสบการณ์การทำธุรกิจในไทยจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยแล้ว
ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมบริษัทญี่ปุ่นที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ด้านยานยนต์และชิ้นส่วน เยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการไทย ด้านดิจิทัลและอากาศยาน และศึกษาดูงานสถาบันเทคโนโลยีการผลิต SIMTec หรือศูนย์เทคนิคแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรโดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ 14 หน่วยงาน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือชั้นนำของโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น นำเครื่องจักร อุปกรณ์มาติดตั้งเพื่อใช้ในการอบรมและสาธิตภาคปฏิบัติด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการญี่ปุ่นยังได้ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย จำนวน 64 คู่บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะทำให้เกิดธุรกรรมทางธุรกิจในอนาคตเป็นมูลค่าไม่ต่ำ 310 ล้านบาท
"ประเทศไทยมีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน ที่สามารถรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และเป็นทั้งผู้ผลิตเครื่องจักร และผู้นำเข้าเครื่องจักรที่สำคัญของภูมิภาค การจัดงานนี้ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นในการร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ รองรับการเป็นฐานผลิตและลงทุนในอนาคต" นายโชคดีกล่าว
ทั้งนี้ บีโอไอมีนโยบายสนับสนุนกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงการส่งเสริมการผลิตเครื่องจักรทุกประเภท โดยเฉพาะระบบการผลิตสมัยใหม่ ทั้งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การออกแบบทางวิศวกรรม และการวิจัยพัฒนา โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557 – 2561) มียอดขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเครื่องจักรและชิ้นส่วนกว่า 244 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 24,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เช่น การนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนกระบวนการการผลิตเดิม ซึ่งมาตรการนี้จะเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และผู้ผลิตเครื่องจักรด้วย