กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณี ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เสนอแนะหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคตว่า ที่ผ่านมาสำนักการโยธา (สนย.) กทม. มีมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ หลังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 62 โดยประสานกับเจ้าของอาคารประเภทอาคารสูงว่าได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวจนก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ ซึ่งพบว่าไม่มีเหตุกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กทม. ได้กำหนดให้อาคารบางประเภทที่ขออนุญาตก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2550 เป็นต้นไป จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 ส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนวันที่ 30 พ.ย. 2550 หากประสงค์จะปรับปรุงอาคารเพื่อให้ต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น สามารถกระทำได้ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารให้สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว พ.ศ.2555 อีกทั้งขณะนี้มีบางอาคารอยู่ระหว่างเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร โดยจัดทำโมเดลวิเคราะห์โครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหวเพื่อตรวจสอบจุดหรือบริเวณที่ต้องเสริมความมั่นคงแข็งแรงของอาคารด้วย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มได้อย่างเป็นระบบและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้
ยังได้จัดการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม รวมทั้งจัดทำเอกสารแผ่นพับข้อแนะนำเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวให้กับสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ของ สปภ. สำหรับแจกจ่ายให้ประชาชนใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ @ศูนย์วิทยุพระราม 199 เพื่อติดตามสถานการณ์สาธารณภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง