กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--เวเบอร์ แชนด์วิค
เทคโนโลยีของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ช่วยยกระดับท่าเรือแหลมฉบังสู่ 'ท่าเรืออัจฉริยะ' (Smart Port) ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0ศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ แสดงศักยภาพของเทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลระดับโลกของฮัทชิสัน พอร์ท ณ ท่าเทียบเรือชุด D
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย เปิดศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ (Visitors Centre) ในท่าเรือแหลมฉบัง ตอกย้ำสถานะการเป็นท่าเรือเกต์เวย์หลักของประเทศไทย ที่กำลังเติบโตสู่ศูนย์กลางด้านการขนส่งของโลก พร้อมช่วยยกระดับท่าเทียบเรือชุด D สู่ท่าเทียบเรือระดับแฟลกชิป (Flagship) ของฮัทชิสัน พอร์ท ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่นี้ จะสาธิตศักยภาพการทำงานของเทคโนโลยีระดับโลกของฮัทชิสัน พอร์ท ท่ามกลางพื้นที่การปฏิบัติงานจริง ณ บริเวณท่าเทียบเรือชุด D
ท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเทียบเรือระดับแฟลกชิป (Flagship) ทางด้านเทคโนโลยีท่าเรือของ ฮัทชิสัน พอร์ท ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากปัจจัยเชิงบวกด้านสถานที่ตั้งที่อยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายใต้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศผ่านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
มร. สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ที่ท่าเทียบเรือชุด D แสดงให้เห็นการลงทุนครั้งสำคัญของฮัทชิสัน ในการพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ยกระดับให้ท่าเทียบเรือชุด D กลายเป็นหนึ่งในท่าบริการตู้สินค้าที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ที่มีศักยภาพรองรับบรรดาเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ศูนย์แห่งนี้ยังสาธิตกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) ระดับโลกภายในท่า รวมถึงแสดงบริการติดตามสถานะตู้สินค้าแบบออนไลน์ และแอพพลิเคชั่น ubi บนสมาร์ทโฟนสำหรับลูกค้าและผู้ใช้งานท่าเทียบเรือ
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กำลังวางแผนนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาสู่ท่าเทียบเรือชุด D อันได้แก่ โครงการเครือข่ายการขนส่งระดับโลก (Global Shipping Business Network หรือ GSBN) โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสายเดินเรือต่างๆ และผู้ใช้งานท่าเรือ เทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับ (Autonomous Truck) ที่จะทำมาใช้ทั้งบริเวณหน้าท่าและลานในท่า และเทคโนโลยีประตูอัตโนมัติ (Gate Automation) ที่ประตูทางเข้า และออกท่า เพื่อระบุตัวตนของรถได้จากระยะไกล
มร. แอชเวิร์ธ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เทคโนโลยีของเราสอดคล้องกับแผนของการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็น 'ท่าเรืออัจฉริยะ' หรือ Smart Port เราภูมิใจที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย"
ศูนย์บริการผู้เยี่ยมชมแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเทียบเรือชุด D โดยจะสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหมด และศูนย์แห่งนี้จะยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการฝึกพนักงานของฮัทชิสัน พอร์ทจากทั่วโลกอีกด้วย
ท่าเทียบเรือชุด D เสร็จสมบูรณ์แล้วราว 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 6 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 20 คัน ทั้งหมดติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ ท่าเทียบเรือแห่งนี้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าระวางความจุเกินกว่า 14,000 ทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ซึ่งมีน้ำหนักรวมได้มากถึง 150,000 ตัน และมีความยาวของเรือกว่า 360 เมตร เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน โดยจะเพิ่มความสามารถรองรับตู้สินค้าของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบังได้อีก 3.5 ล้านทีอียู
เกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand - HPT) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ลงมาเพียง 130 กิโลเมตร ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึง บริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ ท่าเทียบเรือA2 A3 C1 C2 D1 D2 และ D3
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 27 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ