กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
'โรคไทรอยด์' คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในสัดส่วนประมาณ 5 ต่อ 1 หลายคนอาจเคยเห็นข่าวดาราดัง ๆ ที่เป็นโรคนี้ และมีอาการทางร่างกายที่แตกต่างกันไป นั่นเป็นเพราะโรคไทรอยด์มีหลายชนิด โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกิน หรือไทรอยด์เป็นพิษ
ไทรอยด์ชนิดนี้สามารถพบเจอได้ทุกช่วงวัย คนไข้จะมีอาการ มือสั่น ใจสั่น ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เหงื่อออกง่าย นอนไม่หลับ กินจุแต่น้ำหนักลด เหมือนมีการเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา น้ำหนักตัวอาจลดลง 5-10 กิโลกรัมภายในระยะเวลา 1 เดือน แม้จะไม่ได้ออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยประมาณ 10% ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มเนื่องจากกินอาหารในปริมาณที่มากกว่าพลังงานที่ร่างกายเผาผลาญไป ทั้งนี้การรักษาทำได้ด้วยการกินยาต้านไทรอยด์ประมาณ 2 ปี ส่วนในระยะยาวหลังจากหยุดยาต้องมาตรวจอีกครั้ง เพราะหลายคนเมื่อหยุดยาก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่ถึง 70%
- ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำ มักจะมีอาการตรงกันข้ามกับไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกิน คือ ไม่ค่อยเผาผลาญ น้ำหนักขึ้นง่าย อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉื่อยชา ขี้หนาว ท้องผูก ง่วงบ่อย นอนเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนอ้วนจะต้องเป็นไทรอยด์เสมอไป เบื้องต้นสามารถสังเกตตัวเองได้จากพฤติกรรมในอดีตกับปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีความเสี่ยงควรไปตรวจเช็กเพื่อความแน่ใจ สำหรับการรักษาไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนต่ำนั้นจะง่ายกว่าไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนเกิน เพราะสามารถรักษาได้ด้วยการกินฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไป เพื่อให้ฮอร์โมนกลับมาอยู่ในระดับที่สมดุล ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่มักจะต้องกินไปตลอดชีวิต
- ก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ในกรณีที่พบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ คนไข้มักกังวลว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า ซึ่งคำตอบคือไม่จำเป็นเสมอไป โดยการจะทราบผลว่าเป็นมะเร็งหรือไม่นั้นจะต้องทำการเจาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพื่อนำเซลล์ไปตรวจ โดยที่ผ่านมาพบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง นอกนั้นก็เป็นเพียงก้อนธรรมดาที่ไม่ได้อันตรายอะไร ซึ่งหากก้อนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หมอก็ไม่แนะนำให้ผ่าตัดเพราะบริเวณนั้นมีทั้งเส้นเสียง และเส้นเลือดจำนวนมาก แต่ก็ควรตามดูอาการอย่างสม่ำเสมอ
- สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเกินกับไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนต่ำนั้นไม่ได้มีสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่ในทางการแพทย์เชื่อว่ากรรมพันธุ์อาจมีส่วน โดยคนไข้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีครอบครัวที่เป็นโรคไทรอยด์เหมือนกัน สมมุติว่าคุณพ่อเราเป็นโรคไทรอยด์ เราก็อาจจะมีสิทธิ์เป็นไทรอยด์มากกว่าคนอื่น ขณะที่การรับประทานไอโอดีนในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไปก็อาจทำให้มีความเสี่ยงได้เช่นกัน
ข้อมูลโดย รศ. พญ.ฉัตรประอร งามอุโฆษ
สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คลิกชมรายการได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=_6BPhGT0jHI