กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--เฟลชแมนฮิลลาร์ด
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council - NSC) ตัวแทนอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศนอร์เวย์ จัดงานดินเนอร์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ชวนลิ้มรสฟยอร์ดเทราต์และอาหารทะเลสดใหม่จากนอร์เวย์ ที่รังสรรค์ขึ้นโดยเชฟชาวไทยผู้เชี่ยวชาญในด้านอาหารสไตล์นอร์ดิก เชฟเฟ-รุ่งทิวา ชุ่มมงคล หัวหน้าเชฟประจำห้องอาหาร ฟร้อนท์ รูม โรงแรม วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย พร้อมทั้งได้รับเกียรติจาก ทูร์ เฮาวค์ อัครราชทูตที่ปรึกษา/รองหัวหน้าสถานทูต สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนและเหล่าพันธมิตรของสภาอุตสาหกรรมนอร์เวย์เข้าร่วม
อาหารมื้อค่ำสุดพิเศษนี้จัดโดยสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์หรือ NSC ณ ห้องอาหาร ฟร้อนท์ รูม โรงแรม วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ เพื่อแนะนำอาหารทะเลสดคุณภาพพรีเมียมจากน้ำเย็นที่ใสสะอาดจากนอร์เวย์ อย่าง ฟยอร์ดเทราต์ ตัวเด่นของงาน ปูจักรพรรดิ ฮาลิบัทจากนอร์เวย์ ปิดท้ายด้วยของหวานรสเลิศ
ฟยอร์ดเทราต์จากนอร์เวย์สามารถรับประทานได้ทั้งแบบดิบและแบบปรุงสุก มีคุณค่าทางโภชนาการอันประกอบไปด้วยสารอาหารอย่างโปรตีน ซีลีเนียม และโอเมก้า-3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อหัวใจและสมอง นอกจากนี้ยังมีวิตามินดีที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและดีต่อสุขภาพ หากเปรียบเทียบกับแซลมอนซึ่งมีหน้าตาและรสชาติคล้ายคลึงกันแล้ว ฟยอร์ดเทราต์มีเนื้อที่แน่นกว่า มีหนังสีเงินและเนื้อที่ออกสีแดงสดกว่า และมีชั้นไขมันรสอร่อยแทรกอยู่ทั่วตัวโดยเฉพาะบริเวณพุง
ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดนำเข้าฟยอร์ดเทราต์จากนอร์เวย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่จากการสำรวจพบว่าคนไทยจำนวนมากยังไม่รู้จักปลาชนิดนี้ มีการเข้าใจผิดว่าเป็น 'แซลมอนเทราต์' อยู่บ่อยๆ ซึ่งไม่มีอยู่จริง อีกหนึ่งความน่าสนใจของฟยอร์ดเทราต์คือการที่ปลาชนิดนี้มีผลผลิตจำกัด ทำให้เป็นที่ต้องการสูง น้ำใสสะอาดของนอร์เวย์ที่รายล้อมไปด้วยฟยอร์ด ซึ่งเกิดจากการมาบรรจบกันของธารน้ำแข็งและน้ำเค็มของทะเล กลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงฟยอร์ดเทราต์ชั้นยอดและยั่งยืน"
ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีกับร้านอาหารระดับมิชลินในยุโรป ทำให้เชฟเฟมีความพิถีพิถันในการเลือกใช้วัตถุดิบมารังสรรค์เมนู "สำหรับเมนูในค่ำคืนนี้ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากอาหารทะเลสดคุณภาพพรีเมียมจากนอร์เวย์ โดยมีฟยอร์ดเทราต์เป็นพระเอกของงาน ด้วยรสชาติที่เหมาะกับการรับประทานทั้งแบบดิบและปรุงสุก ผสานกับการปรุงด้วยรสชาติและวัตถุดิบแบบไทยๆ กลายเป็นคอร์สอาหารสุดพิเศษที่อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลอง" เชฟเฟ-รุ่งทิวา ชุ่มมงคล กล่าวถึงเมนูอาหารในงาน
การบริโภคอาหารทะเลในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั้งในร้านอาหารและที่บ้าน ความนิยมของอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะซูชิและซาชิมิ ส่งผลให้ร้านอาหารต้องคัดสรรปลาดิบที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันผู้จัดจำหน่ายอาหารทะเลต้องสรรหาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซื้อไปปรุงเองที่บ้าน ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยใส่ใจในวัตถุดิบ ความปลอดภัย และผลกระทบต่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากรายงานเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืนซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติเผยว่า หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการประมงที่ยั่งยืน ปริมาณผลผลิตทางทะเลจะเพิ่มขึ้นได้ถึงหกเท่า และมีการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ต่ำกว่าการผลิตอาหารประเภทอื่นๆ
ด้วยชื่อเสียงในฐานะผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสองของโลก ทำให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของนอร์เวย์ยึดมั่นในการเลือกใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูง เพื่อดูแลความปลอดภัยของอาหารและจัดการการประมงอย่างยั่งยืน ฟยอร์ดเทราต์นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ส่งผลให้ชาวนอร์เวย์กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการประมงในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปลาชนิดแรกที่ชาวนอร์เวย์ได้ลองเพาะเลี้ยง การเพาะเลี้ยงฟยอร์ดเทราต์ต้องการการดูแลที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพสูง ต้องใช้การติดตามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ตลอดอายุปลา เหล่านี้สำเร็จได้ด้วยมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เข้มงวดและความเคารพต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ประเทศนอร์เวย์ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด
เกี่ยวกับสภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (Norwegian Seafood Council – NSC)
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เป็นบริษัทเอกชนภายใต้กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และการประมงประเทศนอร์เวย์ และถือเป็นสมาคมอาหารทะเลระดับประเทศเพียงแห่งเดียวในโลก NSC ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจประมงและภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของนอร์เวย์ เพื่อพัฒนาตลาดอาหารทะเลของนอร์เวย์ เป็นตัวแทนผู้ส่งออกอาหารทะเล และอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศนอร์เวย์ เครื่องหมายการค้า "Seafood from Norway" เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงแหล่งกำเนิดของอาหารทะเลที่จับได้หรือเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดของประเทศนอร์เวย์