กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนตุลาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนตุลาคม ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนตุลาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล และภาคเหนือ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหาคร และนครปฐม เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.1 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ อย่างไรก็ดีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 2,711 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 16.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดปทุมธานีและนครปฐม เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 8.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 10.8 และ 4.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี อย่างไรก็ดีจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 หดตัวร้อยละ -1.2 และ -15.1 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 1,471 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตยารักษาโรคในจังหวัดเชียงรายเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 9.8 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจันทบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 36.4 หรือ 20,837 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตเส้นใยธรรมชาติจากเยื่อไม้ในจังหวัดปราจีนบุรี และโรงงานผลิตกรดอะมิโนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร เครื่องสำอางค์ และเภสัชกรรมในจังหวัดระยอง เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและคนต่างประเทศที่ร้อยละ 7.6 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนตุลาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 24 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.01 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะด้านการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ระดับฐานราก สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชุมพร สงขลา ยะลา และตรัง เป็นต้น สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -3.1 และ -15.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2562 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 26.1 หรือ 1,020 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสงขลา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 8.0 และ 2.2 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายใน สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.8 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับจำนวนรถจักรยานยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี อย่างไรก็ดีจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -6.5 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 126.5 หรือ 827 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 8.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ -0.6 ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 5.9 และ 9.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ -0.6 ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ พบว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอ่างทอง ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซึ่งขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ 614.9 หรือ 1,441 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานปูนซีเมนต์ผสมและขึ้นรูปผลิตภัณฑ์คอนกรีตในจังหวัดสระบุรี อย่างไรก็ดี จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 หดตัวร้อยละ -0.8 และ -7.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอตัว การปรับตัวลดลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -12.3 และ -2.6 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนตุลาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนตุลาคม 2562 หดตัวร้อยละ -1.2 และ -15.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนตุลาคม 2562 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ 552.8 หรือ 5,531 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานสีข้าวและโรงงานผลิตยางแท่ง เอสทีอาร์ 20, ผลิตยางแท่งคอมปาวด์ในจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนตุลาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.6 ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 4.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค