กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดสรรงบประมาณอีก 30 ล้านบาทจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กำหนดมาตรการอุดหนุนสถานประกอบกิจการ 6 กรณี เพื่อส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงาน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2563 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้พิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อช่วยเหลือหรืออุดหนุนสถานประกอบกิจการ เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท กรณีที่สถานประกอบกิจการ (สปก.)ดำเนินการเกี่ยวกับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ หรือจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่ลูกจ้างหรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ จะได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแล้วแต่กรณี
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือหรืออุดหนุน สปก. ที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด 6 กรณีที่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวคือ กรณีแรก ช่วยเหลือหรืออุดหนุน สปก.ที่ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างในปีที่ผ่านมาเกินกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เกินนั้นมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนรายละ 200 บาท ตัวอย่างเช่น สปก.มีพนักงานทั้งหมด 1,000 คน ฝึกอบรมพนักงานไปในปี 2562 ทั้งหมด 800 คน ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 70 จำนวน 100 คน ดังนั้นในปี 2563 มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุน 100 คนๆ ละ 200 บาท เป็นเงิน 20,000 บาท เป็นต้น
กรณีที่ 2 สปก.ฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้แก่ลูกจ้างในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินปีละ 100,000 บาท ตัวอย่างหลักสูตร เช่น การออกแบบสมองกลฝังตัวในโรงงานอุตสาหกรรม การควบคุมหุ่นยนต์ในระบบงานอุตสาหกรรม และการสร้างภาพเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ เป็นต้น กรณีที่ 3 ส่งลูกจ้างเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและผ่านการทดสอบ พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ อุดหนุนให้ 1,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ ไม่เกินปีละ 100,000 บาท
อธิบดี กพร. กล่าวต่ออีกว่า กรณีที่ 4 สปก.จัดทำมาตรฐานฝีมือของตนเอง และนำไปใช้ทดสอบแก่ลูกจ้างของตนเองในปีที่ผ่านมา อุดหนุนให้สาขา ระดับละ 10,000 บาท ตัวอย่างเช่น จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเพียง 1 สาขา แต่มี 2 ระดับ มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน 20,000 บาท เป็นต้น กรณีที่ 5 สปก.จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และในปีที่ผ่านมามีการจัดอบรมพนักงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพนักงานทั้งหมด มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือในปีปัจจุบันร้อยละ 10 ของเงินสมทบที่นำส่ง เช่น ในปี 2561 บริษัทจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ เป็นเงิน 100,000 บาท ต่อมาในปี 2562 มีการจัดฝึกอบรมครบตามจำนวน ดังนั้น ในปี 2563 มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท เป็นต้น
กรณีที่ 6 จะให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนสำหรับผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ดำเนินการจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในปีที่ผ่านมา ได้รับเงินอุดหนุนปีละ 10,000 บาทต่อผู้ผ่านการทดสอบทุก 100 คน หากดำเนินการทดสอบเกินกว่า 100 คน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 75 คน จะจ่ายให้อีก 10,000 บาท
"มาตรการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะความรู้แก่พนักงานของตนเอง และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น รองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งสถานประกอบกิจการหลายแห่งนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการผลิตและปฏิบัติงาน พนักงานจึงควรได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือให้มีศักยภาพในการทำงานที่สูงขึ้น และได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย" อธิบดี
กพร.กล่าวทิ้งท้าย
** สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4