กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--โพลีพลัส พีอาร์
เอไอเอส ตอกย้ำความสำเร็จ โครงการ "อุ่นใจไซเบอร์" ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมดิจิทัลที่ยั่งยืนแก่ประเทศ พร้อมทั้งขจัดภัยคุกคามและความรุนแรงจากการใช้สื่อออนไลน์ ล่าสุด เดินหน้าจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป "อุ่นใจไซเบอร์" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านออนไลน์ให้กับเยาวชนไทย ผ่านทางโรงเรียนเครือข่ายกว่า 450 โรงเรียน 4 ภูมิภาค 4 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับจากโรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี
นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าส่วนงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า "นับเป็นความภาคภูมิใจของเอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่ตั้งใจเป็นตัวกลางในการร่วมผลักดันการสร้างสังคมดิจิทัลที่สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปโครงการ "อุ่นใจไซเบอร์" ทั้ง 4 ภูมิภาค 4 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ขอนแก่น และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งกิจกรรมเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นในแต่ละพื้นที่ต่างประสบสำเร็จและได้รับการตอบรับจากโรงเรียนและคุณครูที่ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างเครือข่ายคุณครู เสริมความแข็งแกร่งของเครือข่ายด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันปัญหาไซเบอร์ที่พบเจอกับเด็กนักเรียน เพื่อแชร์ไอเดียแนวทางในการแก้ไข โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงจัดกิจกรรมสาธิตชุดการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ (Digital Intelligence Quotient) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้กับคุณครู เพื่อนำไปใช้สร้างภูมิคุ้มกันและความเข้าใจในสื่อดิจิทัล และบริการคัดกรองเนื้อหาบนโลกออนไลน์ด้วย AIS Secure Net และแอปพลิเคชัน Family Link ที่ร่วมกับ Google ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถแนะนำผู้ปกครอง เพื่อช่วยดูแลการใช้สมาร์ทโฟนของบุตรหลานได้อย่างเรียลไทม์ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของโครงการที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชน และภาคประชาชน ที่จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อขยายผล ในการรณรงค์เพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงและภัยคุกคามในโลกออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน
ด้าน จินตนา เพ็ชรไทย คุณครูสอนวิทยาการคำนวณ โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จ. ลำปาง ซึ่งเข้าร่วมเวิร์กช็อปโครงการ "อุ่นใจไซเบอร์" บอกว่า "จากประสบการณ์ในการสอนนักเรียนในหลายระดับชั้น พบปัญหาภัยคุกคามจากไซเบอร์ของนักเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยและกำลังเป็นปัญหา อาทิ เด็กนักเรียนติดเกม ซึ่งบางเด็กคนมีปัญหาถึงขนาดตื่นตี 4 เพื่อมาเล่นเกม ซึ่งในฐานะครูจึงมีความกังวลว่า จะส่งผลต่อสุขภาพของนักเรียน และปัญหาในด้านอื่นๆ จะตามมา หรือกรณีเด็กนักเรียนหญิง ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น เริ่มมีการแชทพูดคุยกับเพื่อนชายในสื่อโซเชียล ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม และไม่ได้รู้จักตัวตนจริงๆ ของคนที่คุยด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การหลอกลวงได้ ซึ่งจากที่ได้ร่วมกิจกรรม ทำให้มีการปรับมุมมองใหม่ เกิดทัศนคติที่ดีแก่นักเรียนในเชิงบวก คือ การใช้โซเชียลในปัจจุบันนั้น เราต้องมองทั้งในมุมของนักเรียนด้วย ซึ่งปัญหาในการใช้สื่อโซเชียลที่ไม่เหมาะสมของเด็กนั้นมีที่มาและสาเหตุ ต้องช่วยกันหาสาเหตุ และปรับใช้กับวิธีการสอนที่ถูกต้อง ให้เหมาะแก่เขาที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ด้วย ต้องมีการปรับตัวทั้งคุณครู นักเรียน หรือแม้กระทั่งกับตัวผู้ปกครอง สร้างความเข้าใจกันมากขึ้น"
ธีระพงศ์ เพ็งสกุล คุณครูโรงเรียนบ้านย่านดินแดง จ. สุราษฏร์ธานี กล่าวว่า "หากพูดถึงสื่อออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กนักเรียนในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์มีทั้งด้านดีที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก และมีด้านลบด้วยเช่นกัน แต่เราไม่สามารถจะห้ามหรือบังคับให้เด็กนักเรียนเลิกใช้สมาร์ทโฟนและสื่อออนไลน์ได้ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปลูกฝังและสร้างความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Media Literacy) เพื่อเป็นการแก้ปัญหา และป้องกันการถูกชักจูงไปในทางด้านลบจากการล่อใจในโลกออนไลน์ โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ดี ที่เอไอเอสได้ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจการใช้โซเชียลอย่างถูกต้องกับคุณครู รวมถึงทำให้คุณครูจากหลายๆ โรงเรียนได้รวมกันแลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างเครือข่าย เกิดเป็นองค์ความรู้เพื่อจะได้ไปต่อเติมสร้างความรู้ให้กับนักเรียนในชั้นเรียน ให้มีการใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกวิธี"
วราชนก บรรหาร คุณครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านหลักร้อย จ. นครราชสีมา บอกว่า "เนื่องจากสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมต้น ปัญหาใกล้ตัวที่พบจึงอาจแตกต่างจากเพื่อนครูที่สอนในระดับชั้นมัธยม ที่มักเจอปัญหาการการกลั่นแกล้งของนักเรียนในสื่อออนไลน์ ซึ่งจะมีความซับซ้อนและต้องใช้ความเข้าใจ ดังนั้นคุณครูสามารถช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กๆ โครงการนี้ของเอไอเอสจึงตอบโจทย์มากๆ ซึ่งชุดการเรียนรู้ 360 องศา เพื่อพัฒนาทักษะและความฉลาดทางด้านดิจิทัล DQ (Digital Intelligence Quotient) สามารถนำไปประยุกต์ใช้สอนเด็กได้อย่างตรงจุด และสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้เนื่องจากเป็นสื่อรูปแบบการ์ตูนทำให้ไม่น่าเบื่อ ต้องขอบคุณเอไอเอสที่จัดกิจกรรมที่ดีและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาภัยไซเบอร์ในเยาวชน"
ผู้ที่สนใจร่วมทดสอบทักษะความฉลาดทางดิจิทัล และใช้งานเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ของเยาวชนไทย ได้ฟรี! ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/networkforthais