กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มกอช. ร่วมกับ กัมพูชา และเวียดนาม ประชุมสรุปผลโครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (FTAG) เตรียมจัดทำแผนแนวทางพัฒนาศักยภาพด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "The Regional Workshop on Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN" และการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการครั้งที่ 5 (The 5th Steering Committee Meeting of Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN) ซึ่งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft for Internationale Zusammenarbeit GmbH: GIZ) และกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงแห่งราชอาณาจักกัมพูชาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมขึ้นในระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
การประชุมดังกล่าวฯ จัดขึ้นเพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน (Facilitating Trade for Agricultural Goods in ASEAN : FTAG) ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ร่วมการประชุม และมีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและป่าไม้แห่ง สปป.ลาว เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ ฝ่ายประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้มอบหมายให้ นายวิชา ธิติประเสริฐ ที่ปรึกษา มกอช. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำทีมเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ทั้งนี้ ผู้แทนจาก 3 ประเทศ ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทย ได้รายงานการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืช และเผยแพร่ขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชให้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทราบ รวมถึงการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานตรวจสอบและกักกันสินค้าพืชนำเข้าและส่งออก (SOP) เพื่อใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจพืชทั่วประเทศ โดยจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2563 นี้ สำหรับประเทศกัมพูชา ได้รายงานการพัฒนาระบบการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขอใบ PC และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกสินค้าพืช รวมทั้งจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชแก่ผู้เกี่ยวข้องจากภาครัฐและภาคเอกชน และสำหรับประเทศเวียดนาม ได้รายงานการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกักกันสินค้าพืช และการจำแนกศัตรูพืชแก่เจ้าหน้าที่ด่านกักพืชทั่วประเทศ นอกจากนี้ กัมพูชาและเวียดนามยังได้แปล International Standards for Phytosanitary Measures (ISPMs) เป็นภาษาเขมรและเวียดนามด้วย เพื่อลดปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เป็นอุปสรรคในการตรวจสอบและกักกันสินค้าพืช
ผลการดำเนินโครงการ FTAG มี 3 กิจกรรมหลัก คือ 1. การรศึกษาและรวบรวมข้อมูลและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรของทั้ง 3 ประเทศ 2. การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตรวจสอบกักกันสินค้าพืชที่โปร่งใสและรวดเร็ว ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้ร่วมกันจัดทำรายชื่อศัตรูพืช ในพืชนำร่อง 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ แก้วมังกร กล้วย และพริก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชและเปิดตลาดสินค้าพืชระหว่างกัน และ 3. การจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้ง 3 ประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และการจำแนกศัตรูพืช โดยการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมกันสรุปผลการดำเนินงาน ให้ข้อคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอแนะ เพื่อจะนำไปนำเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียน คือ ประชุมผู้ประสานงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของอาเซียน (ASCP) และที่ประชุมคณะทำงานด้านพืชของอาเซียน (ASWG on Crops) เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในกรอบความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศคู่ค้าต่อไป
โครงการ FTAG เป็นความร่วมมือทางเทคนิคที่ดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร การพัฒนา สินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานของประเทศคู่ค้า การปรับปรุงพัฒนาข้อมูล และการหารือทางเทคนิคด้านการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ให้ชัดเจนและเข้าใจง่าย โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 – ธันวาคม 2562 ในพื้นที่ประเทศเป้าหมายนำร่อง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสำหรับประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้ร่วมมือ (Partner) ในโครงการดังกล่าว