กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สอวช.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดระดมสมองภาครัฐ เอกชน หน่วยบริหารจัดการทุน มหาวิทยาลัย สื่อมวลขน ชูมาตราการเร่งด่วนฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจด้วย บีซีจีโมเดล โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางถึงกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นการวิจัยที่มักกองรวมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยและไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร กลายเป็นวิจัยค้างหิ้งไม่ตอบโจทย์ประเทศชาติ อีกทั้งการบริหารจัดการงบประมาณการทำวิจัยไม่ได้มองภาพรวมของประเทศและยังติดกับดักกรอบการวิจัยแบบเดิม ๆ ขณะที่ประเทศเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น บีซีจีโมเดลจึงเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ประเทศชาติ และตอบโจทย์ประเทศในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจนโยบาย บีซีจีโมเดล โดยหน่วยบริหารจัดการทุน หรือ PMU จะเป็นหน่วยขับเคลื่อนหลักผ่านการดำเนินงานที่สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่ต้องตอบโจทย์ประเทศ มุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ลดการพึ่งพาต่างประเทศแต่ยังต้องเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามหลักการของบีซีจีโมเดล
"เราต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยสร้างสรรค์งานวิจัยที่สำคัญ เพราะประเทศชาติต้องเปลี่ยน งานวิจัยเราจะทำแบบเดิมไม่ได้ กระบวนความคิดต้องเปลี่ยนแปลง PMU เองก็ต้องทำงานหนัก ต้องเห็นภาพใหญ่ของประเทศ และช่วยกันตั้งโจทย์ และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยที่ไม่ติดกรอบกับดักแบบเดิม ต้องตอบโจทย์ความยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ จากนี้ไปงานวิจัยต้องนำไปใช้ประโยชน์ มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย ต้องทำงานร่วมกับเอกชน ประชาสังคม ตลอดจนเครือข่ายต่างประเทศ เพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์ประเทศชาติอย่างแท้จริงด้วยพลังจตุรภาคี" ดร.สุวิทย์ กล่าว
ส่วนเรื่องงบประมาณ รมว.อว. กล่าวว่า งบประมาณต้องมีการถูกนำไปใช้ใหม่ เกษตรต้องไม่ใช่การอุดหนุนชดเชยแบบเดิมที่ทำให้เกษตรกรไม่พัฒนาประสิทธิภาพผลผลิต รอแต่การช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว การแพทย์และสุขภาพต้องมีการเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัยที่เพิ่มขึ้น พลังงานทดแทนต้องมากขึ้น การท่องเที่ยวต้องได้รับผลประโยชน์ ทั้งนี้ PMU ต้องคุยกันมากขึ้นเพื่อวางเป้าหมายร่วมกัน และการให้ทุนวิจัยไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยเท่านั้น อาจจะเป็นภาคส่วนอื่น ๆ ก็สามารถได้รับการสนับสนุนได้
นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ย้ำว่า หากเราสามารถขับเคลื่อนบีซีจีโมเดลให้เกิดขึ้นได้ ประเทศไม่ต้องฝากความหวังไว้ที่การเมืองหรือหน่วยงานใดเลย เพราะเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่จะช่วยนำประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บีซีจี ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการทำมาอย่างต่อเนื่อง เรามีข้อได้เปรียบทางทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมอยู่แล้วเพียงแต่ต้องเติมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STI เข้าไป มีการต่อยอดองค์ความรู้และมีเป้าหมายที่ชัด และนำไปปรับใช้ร่วมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ในรูปแบบทำน้อยได้มากไม่ใช่ทำมากแต่ได้น้อยเหมือนที่ผ่านมาและจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รักษาการผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บีซีจีแม้จะมีการทำมานาน แต่ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคม เราต้องเปลี่ยนกระบวนคิดของคนไทย ที่ต้องขายของมูลค่าสูงขึ้นทั้งสินค้าและบริการ เพราะประเทศรอบข้างเราเขาปรับกันแล้ว หากเราไม่ทำก็จะขายของได้ยากขึ้น เราต้องใช้ STI เข้ามาปรับให้สมดุลร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น PMU จึงต้องทำตัวเป็นผู้ใช้งานวิจัย ที่ผ่านมาปัญหาของมหาวิทยาลัยไม่ใช่ว่าไม่ทำการวิจัย แต่ปัญหาคือเราทำวิจัยแล้วไม่ได้ใช้ จากนี้ไปต้องใช้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการให้สามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่เหมือนที่ผ่านมา แม้เราจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีการทำวิจัยไว้มากมาย แต่คนไทยไม่สนใจใช้ประโยชน์ คนที่มาต่อยอดและนำไปใช้กลับเป็นต่างชาติ ทำให้งานวิจัยของคนไทยเสียโอกาสตรงนี้ไป
การประชุม "BCG in Action - จัดทัพขับเคลื่อน BCG" ครั้งนี้ ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ตลอดจนหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) ทั้ง 7 หน่วย ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มาร่วมซักซ้อมความเข้าใจเรื่องบีซีจีโมเดล พร้อมหาแนวทางจัดทัพขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม