กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตระยะยาว (Long-term Rating) ของตราสารค้ำประกันประเภทกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ไม่มีกำหนดอายุ มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ที่ 'BBB+'
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อันดับเครดิตของผู้ค้ำประกัน – ตราสารดังกล่าวมีอันดับเครดิตเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของผู้ค้ำประกัน คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ผ่านสาขาที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL โดยภาระจากการค้ำประกันมีสถานะเท่าเทียมกันกับภาระผูกพันที่ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของ BBL
การค้ำประกันเต็มจำนวนจะมีผลจนกระทั่งมีการจ่ายภาระผูกพันค้างชำระทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตราสารครบถ้วนถูกต้องเต็มจำนวน หรือจนถึงวันที่ผู้ออกตราสารสามารถเรียกคืนตราสารได้เป็นครั้งแรก (First Call Date) ในปี 2564 แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ในกรณีที่ MINT ไม่เรียกคืนตราสารในวันที่สามารถเรียกคืนได้ในปี 2564 (Non-call Event) ผู้ค้ำประกันจำเป็นจะต้องซื้อคืนตราสารดังกล่าวทั้งหมด ในราคาที่ครอบคลุมทั้งเงินต้น, ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก นอกเหนือจากการบังคับซื้อคืนในกรณี Non-call Event หาก MINT เข้าสู่ภาวะล้มละลายก่อนที่จะถึง First Call Date BBL มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อคืนตราสาร ในราคาที่คำนวณบนหลักการเดียวกันกับที่กล่าวมาข้างต้น
ฟิทช์มองว่า First Call Date น่าจะเป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนที่น่าจะเป็น (Effective Maturity Date) ของตราสารนี้ จำนวนเงินที่ค้ำประกันทั้งหมดโดย BBL ถูกจำกัดไว้ไม่เกินกว่าร้อยละ 120 ของเงินต้นของตราสารที่ถูกจัดอันดับ ซึ่งน่าจะครอบคลุมเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย, ดอกเบี้ยตั้งพัก และดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยตั้งพัก ที่น่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดของตราสารในช่วงเวลาที่มีการค้างชำระ
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันดังกล่าวสะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก BBL
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ BBL จะส่งผลเช่นเดียวกับอันดับเครดิตของตราสารค้ำประกันของ MINT เนื่องจากเป็นตราสารที่ถูกค้ำประกันเต็มจำนวนโดย BBL
สำหรับ BBL ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 ดังนี้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเครดิตของ BBL เมื่อเทียบกับโครงสร้างเครดิตของธนาคารพาณิชย์อื่นในประเทศไทย เช่น อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอัตราส่วนที่สำคัญทางการเงินของธนาคารเช่นฐานะเงินกองทุน และสภาพคล่องของธนาคารปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทยโดยที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
โอกาสที่อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และยังมีสัดส่วนเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระดับสูง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยน่าจะส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL ถูกปรับลดอันดับเช่นกัน
นอกจากนี้ การปรับตัวด้อยลงอย่างมากและต่อเนื่องของอัตรากำไรและคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับช่วงอันดับเครดิต 'bbb' อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดอันดับ แม้ว่าธนาคารจะมีจุดแข็งในด้านความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในระดับสูง