กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--bowlimited
นับแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ สถานการณ์การส่งออกยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะไทยที่การส่งออกมีมูลค่าสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ดังนั้น การที่ยังต้องพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศท่ามกลางบรรยากาศสงครามการค้าของ 2 ยักษ์ใหญ่โลกอย่างจีนและสหรัฐฯ ประเด็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต้องผลักดันคือเร่งหาตลาดใหม่ ๆ ที่ยังมีศักยภาพควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้นำเข้าและส่งออก
การเร่งปรับปรุงการดำเนินงานเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าอยู่ในความดูแลและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ซึ่งในส่วนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานซึ่งดูแลมาตรฐานด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดที่ได้รับภารกิจจากคณะกรรมาธิการด้านการค้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชียแปซิฟิก (AFACT:Asia Pacific Council for Trade Facilitation and Electronic Business) ให้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสำคัญ AFACT Plenary ครั้งที่ 37 พร้อมจัดกิจกรรมประกวดและมอบรางวัล "eASIA Award 2019"(eASIA Awards) ให้กับสมาชิก 20 ประเทศ ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
โดย eASIA Award ถูกริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2004 ณ ประเทศไต้หวัน โดยจัดขึ้นทุก 2 ปี ให้สมาชิกผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ และในครั้งนี้ก็นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ ETDA ต้องการสร้างความตระหนักให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมาตรฐานสากลด้านอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการค้าข้ามพรมแดน (e-transaction) ให้ไปในทิศทางเดียวกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ
"สุรางคณา วายุภาพ" ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก การแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนของประเทศไทยเองและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การค้าการลงทุนมีเสถียรภาพได้
"การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกเมื่อปี 2561 ให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อยู่ในอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ และในปี 2562 ได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจากสถาบันไอเอ็มดีให้อยู่ในอันดับที่ 25 จาก 63 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transactions) คือหนึ่งในปัจจัยที่หนุนขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวไปกับภูมิภาคได้"สุรางคณา กล่าว
นอกจากการรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AFACT Plenary เพื่อ 20 ประเทศสมาชิกในเอเชียแปซิฟิกแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนไทยร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัล eASIA Awards 2019 นับเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนากระบวนการทำงานของไทยเองอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชียแปซิฟิก จากก่อนหน้านี้ไทยไม่เคยส่งเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลนี้ แต่ในโอกาสที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ได้มีการกระตุ้นให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมส่งผลงาน ปรากฏว่าได้รับถึง 3 รางวัลใน 3 ด้าน คือด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน และด้านการสร้างโอกาสทางดิจิทัล
สำหรับงาน eASIA Awards 2019 ในครั้งนี้ ได้กระตุ้นให้คนไทยเข้าใจความสำคัญของการอำนวยความสะดวกด้านการค้า (Trade Facilitation) เป็นโอกาสที่องค์กรภาครัฐและเอกชนไทยได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆจากประเทศอื่นในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ประเทศอื่นก็เห็นศักยภาพของไทย เปิดโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้ส่งออกผลงานที่ได้มาตรฐานสากลในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และมีโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศได้
"นอกจากจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย ผู้ที่ได้รับรางวัล eASIA Awards 2019 จะได้รับการผลักดันจาก AFACT ให้เป็นสุดยอดองค์กรต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงและแนะนำผู้ที่สนใจให้สามารถพัฒนาและยกระดับความสามารถได้อย่างถูกต้อง"ผู้อำนวยการ ETDA กล่าว
สำหรับรางวัล eASIA Awards 2019 มีผู้ส่งผลงานเข้ารับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิก AFACT ทั่วเอเชียแปซิฟิกกว่า 20 ประเทศ เพื่อชิงรางวัลใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trade Facilitation and e-Commerce) ซึ่งในด้านนี้กรมศุลกากรของไทยได้รับรางวัล ประเภท "Gold Award" จากโปรเจ็กต์ "Thailand National Single Window implementation" 2. ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาครัฐ ((Digital Transformation (Public Sector)) 3. ด้านการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลของภาคเอกชน (Digital Transformation (Private Sector)) ที่มีภาคเอกชนไทย คือบริษัท นิวเทคโนโลยี่ อินฟอร์เมชั่น จำกัด ได้รับรางวัลประเภท "Silver Award" จากโปรเจ็กต์ e-Certificate for Sugar Exporters in Thailand และ 4. ด้านการสร้างโอกาสทางดิจิทัล (Creating Inclusive Digital Opportunities) ที่ ETDA จากประเทศไทยได้รับรางวัลประเภท "Gold Award" จากโปรเจ็กต์ e-Tax Invoice Project
อย่างไรก็ตาม แม้ 3 รางวัลข้างต้นจะการันตีความสามารถการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชนไทย แต่เท่านี้คงยังไม่เพียงพอ เพราะการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านการอำนวยความสะดวกด้านการค้านี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ที่ต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาทั้งในระดับองค์กร เชื่อมโยงไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ จากฝั่งของผู้บริโภคในประเทศเองก็เป็นอีกปัจจัยเร่งให้ต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพราะจากตัวเลขมูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2561 สะท้อนถึงอัตราการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้าอยู่ถึง 3.15 ล้านล้านบาท เติบโต 14.04% มีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน โดยมีมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์อยู่ในลำดับ 2-5 ตามลำดับ ขณะเดียวกันก็มีคนไทยถึง 47.5 ล้านคน หรือกว่า 70% เป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ต มีการลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์ 46.5 ล้านราย มูลค่าธุรกรรมเกือบ 6 ล้านล้านบาท เป็นโครงสร้างที่เอื้ออย่างยิ่งต่อการเติบโตจากภายในผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
การพูดคุยของผู้เกี่ยวข้องในแวดวงธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เอเชียแปซิฟิกในการประชุม AFACT Plenary ครั้งที่ 37 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และรางวัล eASIA Awards2019 ได้จุดประกายให้คนไทยตระหนักถึงศักยภาพของคนในประเทศ เห็นความสำคัญของการพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐาน ประเทศไทยต้องใช้โอกาสสำคัญครั้งนี้เป็นแรงส่งการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ให้ประเทศปรับตัวได้โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว